ย้อนรอย “การบินไทย” เส้นทางจากรัฐวิสาหกิจสู่เอกชน กุญแจสำคัญฟื้นธุรกิจ

15 พ.ย. 2567 | 02:14 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2567 | 02:40 น.

เส้นทางของ “การบินไทย” ท้ายสุดต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ และเตรียมจะออกจากแผน ในไตรมาส 2 ปีหน้า หลังปรับโครงสร้างทุนในสิ้นปีนี้ กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เราจะพาไปย้อนรอย กว่าการบินไทยจะพ้นรัฐวิสาหกิจกลายเป็นเอกชน กุญแจสำคัญ ทำให้การบินไทยพ้นวิกฤต

เส้นทางการบินไทยพ้นรัฐวิสาหกิจสู่เอกชน

สิ่งที่ผลักดันให้การบินไทยพ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจ จุดเริ่มต้นมาจากที่ผ่านการบินไทยประสบปัญหาหนี้ท่วมตัว ขาดทุนสะสมมากถึง 2.4 แสนล้านบาท ประกอบกับเมื่อเกิดโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 ส่งผลให้การบินไทยประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จากกระแสเงินสดที่เหลืออยู่ไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท เพราะไม่สามารถทำการบินได้ รายได้ไม่เข้า แต่รายจ่ายรออีกเพียบ

นี่เองจึงทำให้การบินไทย ต้องการให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 5.4 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง เหมือนที่ในช่วงนั้นที่รัฐบาลของประเทศต่างๆได้ออกมาตรการช่วยเหลือสายการบินในประเทศของตัวเอง เพื่อให้ฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ และการบินไทยในช่วงนั้นก็พยายามเสนอในหลายโมเดล เพื่อให้รัฐเข้ามาอุ้ม เช่น ขอให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุน

เส้นทางกว่าการบินไทยจะเข้าฟื้นฟุกิจการจนถึงปัจจุบัน

แต่เมื่อการบินไทยถูกปฏิเสธโดยกระทรวงคมนาคม ในยุค “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เป็นรัฐมนตรีว่าการทรวงคมนาคม ซึ่งไม่เห็นด้วย และไม่ชงเรื่องต่อให้ ทั้งๆกระทรวงการคลัง ในสมัย “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)ในยุคนั้น เห็นด้วยที่จะค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย โดยการบินไทยยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อเกิดความขัดแย้ง

จนท้ายที่สุดมาจบกันที่การโต้เถียงในครม. เมื่อกลางเดือนพ.ค.2563 บทสรุป คือ มีมติให้การบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงการคลัง ลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 50% ทำให้กระทรวงการคลัง จึงโอนหุ้น 2% ให้กองทุนรวมวายุภักษ์

ข้อดีหลังการบินไทยกลายเป็นเอกชน

เมื่อการบินไทยพ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้การบินไทยไม่สามารถรับเงินช่วยเหลือจากรัฐได้อีก จึงทำให้การบินไทยต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อเดือนพ.ค. 2563 และศาลเห็นชอบให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2564

ขณะเดียวกันในระหว่างนี้การบินไทย ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร ด้วยการลดพนักงานครั้งใหญ่ และได้รับความร่วมมือจากพนักงานเป็นอย่างดีในการทยอยรับเงินเดือนในการเลิกจ้างที่เกิดขึ้น รวมถึงเดินหน้าลดค่าใช้จ่ายอย่างเต็มที่ ขายสินทรัพย์รอง เครื่องบินที่ต้องปลดระวางออกไป เดินหน้าสร้างได้ทุกทาง ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ทำให้การบินไทยหยุดเลือดได้

จนสุดท้ายเมื่อผลประกอบการของการบินไทยดีขึ้น ทำให้การบินไทยได้แก้ไขแผนฟื้นฟูเมื่อกลางปี 2565 โดยปรับแผนลดเงินสินเชื่อใหม่จากเดิมอยู่ที่ราว 5 หมื่นล้านบาท เหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยการปรับโครงสร้างทุน ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน และขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่

การปรับโครงสร้างทุนของการบินไทย

การปรับโครงสร้างทางการเงิน ด้วยการเจรจากับเจ้าหนี้ ในการลดหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ โดยไม่ Hair Cut หนี้เงินต้น กว่าจะได้แผนฟื้นฟูฉบับนี้ ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และวันนี้ การบินไทยสามารถพลิกจากขาดทุน 2.4 แสนล้านบาท จนกลับมาทำกำไรได้

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2563 รัฐบาลโอนหุ้นของกระทรวงการคลัง 2%ให้กับกองทุนรวมวายุภักษ์ ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลงมาเหลือที่ 47.9% การบินไทยจึงพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ การทำงานจึงคล่องตัวและตัดสินได้เร็วมากขึ้น

แต่ในขณะเดียวกันการบินไทยไม่สามารถรับเงินช่วยเหลือได้ ข้อเสียนี้กลับกลายเป็นข้อดีที่ทำให้เราต้องปรับโครงสร้างทางธุรกิจอย่างจริงจัง นี่คือจุดสำคัญที่ทำให้การบินไทยฟื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เมื่อถามว่าเป็นเอกชนสร้างกำไรได้หรือไม่นั้น กำไรสุทธิปีที่แล้วอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท และเป็นกำไรสุทธิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

การบินไทย

ด้านนางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเข้าแผนฟื้นฟูกิจการสิ่งแรกที่ต้องจัดการคือด้านการเงิน เพื่อลดภาระหนี้ให้สถานะการเงินมั่นคงและมีแผนระยะยาว ฉะนั้นจึงตัดสินใจที่จะไม่ Hair Cut หนี้ โดยบริษัทพิจารณากันอย่างหนักมาก แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่ได้ Hair Cut หนี้เหล่านี้ยังคงอยู่ที่การบินไทย และยังต้องชำระหนี้ตามกำหนดแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด

ส่วนกรณีที่หากเป็นเอกชนแล้ว แผนในอนาคตของการบินไทยจะเป็นอย่างไรนั้น “ระยะยาวค่อนข้างชัดเจน หากเดินได้ตามแผนก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ขอให้เดินตามแผน และสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์นโยบายภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งต้องบริหารจัดการอย่างคล่องตัว รวดเร็ว อย่ากลับไปเหมือนเดิม หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นที่จะต้องเลือกกรรมการบริษัทเข้ามาบริหาร หลังจากฟื้นฟูแล้วในกลางปีหน้า” นายปิยสวัสดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยไม่อยากกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก

อย่างไรก็ตามแผนการปรับโครงสร้างทุนที่จะเกิดขึ้น กระบวนการต่างๆ จะกำหนดไว้แล้วว่าการบินไทยจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ ยกเว้นในอนาคตหลังการบินไทยกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว ถ้ากระทรวงการคลัง ไปช้อนซื้อหุ้นเพิ่มในตลาดหลักทรัพย์ฯ การบินไทยก็ยังอาจจะกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจได้ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะไม่เกิดขึ้น

เพราะการจะติดปีกให้กับการบินไทย แข่งขันกับสายการบินระดับโลกได้ ต้องหลุดพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจได้อย่างแท้จริง และไม่ควรจะส่งตัวแทนจากฝ่ายการเมือง หรือภาครัฐที่มากเกินไปจนเข้ามาล้วงลูกการทำงานของการบินไทยอย่างในอดีต

วิเคราะห์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,044 วันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567