ประเด็นร้อนเกี่ยวกับกรณี "ที่ดินเขากระโดง" จังหวัดบุรีรัมย์ ยังคงเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง ล่าสุด “เนชั่นทีวี” ได้รายงานรายละเอียดเกี่ยวกับคำสัมภาษณ์ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงต้นสังกัดกรมที่ดิน ซึ่งมีหลายประเด็นที่ถูกโต้แย้งจากผู้รู้ ทั้งในมุมกฎหมาย และระเบียบบริหารราชการ
“เนชั่นทีวี” สรุปประเด็นโต้แย้งสำคัญมาได้ 4 ประเด็นด้วยกัน สรุปได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 : คำอ้างที่ว่าคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง ผูกพันเฉพาะคู่ความ หรือคู่พิพาทในคดี ระหว่างการรถไฟฯ กับเอกชนรายที่ยื่นฟ้องเพียงเท่านั้น
คำอ้างนี้ไม่เป็นความจริง เพราะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ก็รับรองเอาไว้แล้วว่า “คำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว ได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี (การรถไฟฯ) ผู้ฟ้องคดีจึงสามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้ หาใช่มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี ตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดี (กรมที่ดิน) กล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่”
คำพิพากษานี้ เป็นของศาลปกครองกลาง เป็นคำพิพากษาที่ 582/2566 หน้าที่ 27 ในคดีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ฟ้องกรมที่ดิน กรณีไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง
นอกจากนั้น หากเปิดดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตราา 145 ยังมีข้อความในวรรค 2 อนุมาตรา 2 บัญญัติว่า
“คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใดๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า”
ประเด็นที่ 2 : นายอนุทิน ยกตัวอย่างคดีที่มีการฟ้องร้องกัน 35 ราย และทั้ง 35 รายแพ้คดีการรถไฟฯ แต่นายอนุทินอ้างว่าบังคับเฉพาะคู่ความเท่านั้น ซึ่งผู้รู้ทางกฎหมายแย้งแล้วว่าไม่จริง แต่นายอนุทินยังบอกต่อด้วยว่า ที่ดินในเขากระโดงมี 900 กว่าแปลง ถ้าเอาให้ชัด ก็ให้ฟ้องทีละแปลงไปเลย
เรื่องนี้มีข้อน่าสังเกตคือ ในรัฐบาลชุดที่ีแล้ว พรรคภูมิใจไทย โดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย ฝ่ายค้านในยุคนั้นอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีเขากระโดง และเรียกร้องให้การรถไฟฯ ฟ้องขับไล่ผู้ครอบครองที่ดินแปลงอื่น ๆ หลังศาลมีคำพิพากษายืนยันว่าที่ดินเขากระโดง เป็นที่การรถไฟฯ แต่การรถไฟฯในยุคนั้น กลับไม่ยอมฟ้องขับไล่ อ้างว่า การรถไฟฯ ไม่ฟ้องร้องประชาชน
แต่ในรัฐบาลปัจจุบัน พรรคภูมิใจไทยไม่ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมแล้ว มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยแทน กลับไปเรียกร้องให้มีการฟ้องรายแปลง ทั้งที่ในอดีตไม่ยอมฟ้อง
ที่น่าสนใจก็คือ เป็นการเรียกร้องให้ฟ้อง เมื่อกรมที่ดินมีมติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินในเขากระโดง ซึ่งเท่ากับเป็น “คำสั่งทางปกครองใหม่” ของกรมที่ดิน ซึ่งมีสถานะ “เป็นที่สุด” เช่นกัน
หากจะโต้แย้ง การรถไฟฯ ต้องไปยื่นฟ้องศาลใหม่ ส่วนจะเป็นศาลไหนยังไม่มีความขัดเจน และก่อนจะไปฟ้อง ก็ต้องอุทธรณ์มติของกรมที่ดินภายใน 60 วันอีก ทำให้เสียเวลาไปอีกหลายเดือน เพราะน่าจะสามารถขอขยายเวลาอุทธรณ์ และเวลาวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ด้วย
ประเด็นที่ 3 : การดำเนินการของการรถไฟฯ ที่ดำเนินการกับที่ดินรถไฟ ซึ่งมีคำพิพากษาศาลยืนยันแล้วนั้น ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ การรถไฟฯ ใช้วิธีฟ้องขับไล่ ไม่เคยมีกรณีไหนที่ไปร้องให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ หรือฟ้องศาลปกครองให้สั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนด โดยกรณีเขากระโดง เป็นกรณีแรกในประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดคำถามว่าต้องการเอื้อใครหรือไม่ เพราะเป็นการดำเนินการในยุคที่พรรคภูมิใจไทยคุมกระทรวงคมนาคม ต้นสังกัดของการรถไฟฯ
ทั้งนี้ รายการ “ข่าวข้นคนข่าว” ได้รายงานคำพิพากษาตัวอย่างดังนี้
1.คำพิพากษาศาสแพ่ง คดีการรถไฟฯฟ้องขับไล่ประชาชน ที่รุกที่รถไฟ ย่านมักกะสัน กรุงเทพฯนี่เอง
2.คำพิพากษาศาลแพ่งเช่นกัน คดีการรถไฟฯฟ้องขับไล่ประชาชนรุกที่รถไฟ ย่านพระราม 6 กรุงเทพฯ
3.นอกจากนั้นยังมีคดีที่จังหวัดอุบลราชธานี ฟ้องขับไล่นายทหารยศ “พลโท” ก็ยังเคยฟ้องชนะมาแล้ว แถมทุกคดีต้องจ่ายค่าขนย้ายทรัพย์สินให้การรถไฟฯ
นักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญคดีแพ่ง ให้ข้อมูลว่า คดีเขากระโดง การรถไฟฯ สามารถใช้คำพิพากษาศาลฎีกา และศาลปกครอง ฟ้องขับไล่ผู้ครอบครองที่ดินทุกแปลง กว่า 900 แปลงในบริเวณเขากระโดงได้เลย โดยสามารถฟ้องแบบกลุ่ม เพื่อป้องกันข้อครหาการเลือกปฏิบัติ ฟ้องแปลงไหนก่อน แปลงไหนทีหลัง
ประเด็นที่ 4 : แหล่งข่าวจากหน่วยงานรัฐในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ให้ข้อมูลว่า ข้ออ้างของนายอนุทิน และบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ว่า ที่ดินเขากระโดง 5,083 ไร่ มีที่ดินของตระกูลการเมืองเพียง 200 กว่าไร่ ส่วนบริเวณอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นของประชาชนทั่วไปจำนวนมากนั้น ข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง เพราะที่ดินเขากระโดงทั้งผืน 5,083 ไร่ กรมทางหลวงและหน่วยราชการต่าง ๆ ได้ขออนุญาตใช้ประโยชน์สาธารณะจากการถไฟฯ ทั้งสร้างถนน สร้างโรงพยาบาล จำนวนหลายร้อยไร่
ส่วนที่ดินในความครอบครองของเอกชน เป็นของตระกูลใหญ่ 2 ตระกูล เกือบ 1,000 ไร่ หากรวมกับที่ดินที่หน่วยราชการขอใช้ อาจกินพื้นที่ถึง 1 ใน 3 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของเขากระโดง
ดังนั้นการที่การอ้างว่า ตระกูลบางตระกูลครอบครองที่ดินไม่มาก ไม่เป็นความจริง ส่วนกรณีที่อ้างว่าประชาชนทั่วไปจะเดือดร้อนมาก ถ้าฟ้องขับไล่ เพราะมีประชาชนทั่วไปครอบครองอยู่มาก ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน