งัดหลักฐานกรมทางหลวงยัน ที่ดินเขากระโดงเป็นของ รฟท.

18 พ.ย. 2567 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2567 | 07:30 น.

เปิดสัญญาปี 2532 กรมทางหลวงยอมรับกรรมสิทธิ์ที่ดินเขากระโดงเป็นของ รฟท. พร้อมทำสัญญาเช่าสร้างทางหลวง 219 เขตทาง 20 เมตร ระยะทาง 3,910 เมตร

การยื่นอุทธรณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต่อกรมที่ดิน กรณีมีคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5,083 ไร่ สะท้อนให้เห็นความซับซ้อนในการบริหารและความท้าทายในการรักษาที่ดินของรัฐ

วงสีแดงในแผนที่เขากระโดงเป็นที่ดินของรฟท.

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ รฟท. แสดงจุดยืนชัดเจนในการคัดค้านคำสั่งของกรมที่ดินที่ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ทับซ้อน โดยชี้ให้เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมีปัญหาทั้งในแง่ความชอบด้วยกฎหมาย รูปแบบ ขั้นตอน และการใช้ดุลพินิจ ทั้งๆที่มีคำพิพากษาของ ศาลฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระบุชัดว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของรฟท. พร้อมให้เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ออกทับซ้อนที่ดินกรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ย้อนกลับไปในปี 2532 กรณีกรมทางหลวง ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของรฟท.เพื่อสร้างทางหลวงหมายเลข 219 สายบุรีรัมย์-ประโคนชัย โดยมีการทำสัญญาอย่างเป็นทางการ นับเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ยืนยันว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นของรฟท.

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบพบว่า เอกสารเกี่ยวกับที่ดินรถไฟเขากระโดง ที่กองกรรมสิทธิ์ ของการรถไฟฯ มีบันทึกไว้ทุกอย่าง ครบถ้วนว่า เมื่อปี 2532 นายเสถียร วงศ์วิเชียร อธิบดีกรมทางหลวง ทำหนังสือราชการ ที่ คค 0607/656 ลงวันที่ 19 มกราคม 2532 ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เรื่อง ทางหลวงหมายเลข 219 ตัดผ่านที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย

หนังสือฉบับนี้มีใจความสำคัญระบุว่า ตามหนังสือที่ รฟท. แจ้งว่า  ทางหลวงหมายเลข 219 สายบุรีรัมย์ - ประโคนชัย ตัดผ่านที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งยังมิได้ทำสัญญาอาศัยแต่ประการใด จึงขอให้กรมทางหลวงดำเนินการขอทำสัญญาอาศัยที่กินกับการรถไฟฯ ให้เป็นการถูกต้องนั้น

กรมทางหลวงได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า ทางหลวงสายดังกล่าวระหว่าง กม. 1+740 - 5+650 ตัดผ่านที่ดินของการรถไฟฯ เป็นระยะทาง 3910 เมตร เขตทางกว้าง 20.00 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 156,400 ตารางเมตร กรมทางหลวงจึงขอทำสัญญาอาศัยที่ดินดังกล่าว โดยขอแต่งตั้งให้นายช่างแขวงการทางบุรีรัมย์ เป็นตัวแทนในการทำสัญญาอาศัยที่ดิน ดังกลาว

หนังสือกรมทางหลวงที่ระบุว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของรฟท.

 

ต่อมาในวันที่ 11ตุลาคม 2532 การรถไฟแห่งประเทศไทยและกรมทางหลวงได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดิน เพื่อสร้างเส้นทางหลวงเลข 219 สายบุรีรัมย์ - ประโคนชัย โดยแขวงการทางบุรีรัมย์ ได้นำเงินจำนวน 1,000 บาท ชำระค่าธรรมเนียมในการทำสัญญาอาศัยด้วย

สาระสำคัญ ของสัญญาฉบันนี้ คือ รฟท.ในฐานะผู้ให้สัญญาตกลงให้ผู้รับสัญญา(กรมทางหลวง) มีสิทธิเหนือพื้นดินที่ขอใช้ สิทธิขนาดกว้าง 3,910.00 เมตร เป็นพื้นที่ 196,400,00 ตารางเมตร ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ย่านสถานี ในทางแยกเขากระโดง  หรือนอกย่านสถานี ระหว่างสถานี บุรีรัมย์ ถึงสถานีทางแยกเขากระโดง จาก กม.  1+740.00 ถึง กม. 5+650 เพื่อดำเนินการสร้างทางหลวงจังหวัดหมายเลข 219 บุรีรัมย์-ประโคนชัย โดยมีแผนผังแนบท้ายไว้ในสัญญาด้วย

แผนที่แนบท้ายสัญญาระหวางรฟท.-กรมทางหลวง ที่ระบุแนวเขตที่ดินของรฟท.

เมื่อนำแผนที่แนบท้ายสัญญาระหว่างรฟท.กับกรมทางหลวง กับภาพถ่ายดาวเทียมพบสิ่งปลูกสร้างสำคัญในแนวเขตที่ดินของ รฟท. มาทาบซ้อนกันจะปรากฎภาพดังนี้

ภาพเชิงซ้อนที่ดินเขากระโดงในที่ดินของรฟท.

จากนี้ต้องติดตามว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร เพราะในพื้นที่ดังกล่าวมีที่ดินแปลงสำคัญ อาทิ: บ้านนักการเมืองตระกูลดัง, บริษัทศิลาชัย, สนามแข่งรถ, สนามช้าง อารีน่า, ที่ดินตามคำพิพากษาศาลฎีกาปี 2561, ที่ดินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ปี 2563, และที่ดินตามคำพิพากษาศาลฎีกา 2560

ที่ดินแปลงสำคัญในฟื้นที่เขากระโดง