สำรวจแหล่งเงิน 1.8 แสนล้าน วัดใจรัฐบาลทุ่มหมดหน้าตักดันประชานิยม

20 พ.ย. 2567 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2567 | 09:29 น.

สำรวจกระเป๋าเงินรัฐบาลใช้กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ วัดใจ นายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” ทุ่มหมดหน้าตัก งบกลาง 1.87 แสนล้าน ควักมาใช้หนุนนโยบายประชาชนนิยม เดิมพันประคับประคองเศรษฐกิจไทย

รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ประกาศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งใหญ่ ผ่าน 3 มาตรการหลักในระยะสั้น ทั้ง แจกเงิน 10,000 บาท กลุ่มผู้สูงอายุ จ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท และเตรียมออกมาตรการแก้หนี้สินด้วยการ “พักจ่ายดอกเบี้ย” นาน 3 ปี ซึ่งทั้งหมดนั้น ประเมินกันเบื้องต้นว่าจะต้องใช้เงินงบประมาณหลายหมื่นล้านบาท

ยังไม่นับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ที่รัฐบาลจ่อจะคลอดตามมา ทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ครอบคลุมด้านการค้าและโลจิสติกส์ การเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่นเดียวกับมาตรการด้านการส่งเสริมเทคโนโลยีในภาคเศรษฐกิจ และมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ยังต้องใช้เงินอีกจำนวนมหาศาล

 

นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

หากย้อนกลับไปดู “แหล่งเงิน” เพื่อนำมาใช้ในมาตรการมากมายที่รัฐบาลเตรียมจะผลักดันออกมารอบนี้ เงินก้อนใหญ่สำคัญมาจากงบประมาณรายจ่ายปี 2568 จากงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงิน 187,700 ล้านบาท

แต่หากวงเงินในการดำเนินโครงการต่าง ๆ จากงบกลางรายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจฯ ไม่เพียงพอ ก็ยังมีแหล่งเงินจากงบกลาง รายการรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น รวมไปถึงเงินงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ อีกส่วนหนึ่งด้วย แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะตัดสินใจใช้เงินก้อนไหนออกมาก่อน

ทั้งนี้จากการสำรวจการทำนโยบายของรัฐบาลในระยะเร่งด่วน แยกเป็นรายโครงการ และประเมินแนวโน้มการใช้เงินจากงบกลาง วงเงิน 187,700 ล้านบาท นั้น มีรายละเอียดดังนี้

นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท

นโยบายเรือธงของรัฐบาลที่กลายร่างจาก “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” เป็น “แจกเงินสด” เข้าบัญชี 10,000 บาท เริ่มต้นไปแล้วเฟสแรกในปีงบประมาณ 2567 ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้พิการ รวม 14.55 ล้านคน วงเงินรวม 145,552 ล้านบาท 

ถัดมารอบนี้รัฐบาลมีวงเงินสำรองเอาไว้แจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 โดยการประชุมบอร์ดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่าสุด ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านผู้สูงอายุ โดยจะแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จำนวน 4 ล้านคน ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนไม่เกินเดือนมกราคม 2568 ซึ่งใช้เงินงบประมาณเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท

ส่วนก๊อกต่อไปในกลุ่มที่เหลือที่เข้ามาลงทะเบียนร่วมโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 36 ล้านคน เมื่อตัดกลุ่มที่แจกเงินไปแล้วเฟสแรก บวกกับกลุ่มผู้สูงอายุเฟสที่สอง น่าจะมีผู้ที่เข้าข่ายได้รับเงิน 10,000 บาท ซึ่งกลุ่มนี้รัฐบาลตั้งไว้ว่าจะแจกผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน 2568 ก็น่าจะใช้เงินอีกจำนวนไม่น้อย

 

โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านผู้สูงอายุ โดยการแจกเงิน 10000 บาท

 

แจกเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท

สำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท รัฐบาลยอมรับว่า มีความจำเป็น เพราะกลุ่มเกษตรกรยังคงเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง หลายครอบครัวยังมีภาระหนี้อีกมาก เบื้องต้นจะเป็นโครงการที่เข้ามาดูแลเกษตรกรในระยะสั้น ส่วนในรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไรนั้น เร็ว ๆ นี้จะประกาศเงื่อนไขออกมาอีกครั้ง 

ล่าสุด "จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์" รมช.คลัง ยอมรับว่า โครงการไร่ละ 1,000 บาท คาดว่าจะจ่ายเงินได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วช่วงปลายปีนี้ หรือถึงต้นปี 2568 แต่ตอนนี้กำลังดูรายละเอียดของโครงการว่า จะจ่ายอย่างไร เพราะมีทั้งข้อเสนอการจ่ายเงินโครงการไร่ละ 1,000 บาท และทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีข้อเสนอหลายแบบ เช่น การให้ไร่ละ 500 บาท จำนวน 20 ไร่ และการให้ไร่ละ 1,000 บาท จำนวน 10 ไร่ ทั้งหมดจะต้องไปหารือกันอีกครั้ง

ส่วนแหล่งเงินของโครงการ เงินก้อนนี้เป็นคนละโครงการกับการแจกเงิน 10,000 บาท หากเป็นชาวนาที่ขึ้นทะเบียนไว้ถูกต้อง จะมีสิทธิรับเงินไร่ละ 1,000 บาท คาดว่า จะใช้งบประมาณจากมาตรา 28 โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกให้ก่อน ซึ่งเบื้องต้นจะใช้เงินน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยอาจจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท

แก้ปัญหาหนี้สิน ประชาชน SME

มีหลักการสำคัญคือ รัฐบาลจะดำเนินการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) และ กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ ช่วยลดเงินงวดในการผ่อนชำระ ขยายระยะเวลาผ่อนชำระให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเฉพาะเงินต้นเท่านั้น และพักชำระดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลา 3 ปี

ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มหลัก คือ ลูกหนี้สินเชื่อบ้าน ลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจ โดยทั้ง 3 กลุ่มจะต้องเป็นหนี้เสีย อายุไม่เกิน 1 ปี กำหนดปิดวันนับยอดหนี้ 1 ปี ไม่เกินวันที่ 31 ตุลาคม 2567 คาดว่าจะมีจำนวนลูกหนี้ที่เข้าข่าย 2.3 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 1.31 ล้านล้านบาท 

ล่าสุด “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยที่พักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี กลุ่มสถาบันการเงินจะได้รับการชดเชยด้วยการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ จากธนาคารพาณิชย์ ลงครึ่งหนึ่งจาก 0.46% ต่อปี เหลือ 0.23% ต่อปี เพื่อนำเงินนี้มาช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนทำให้ผู้ที่ชำระหนี้สามารถจ่ายชำระเงินต้น

 

สำรวจแหล่งเงิน 1.8 แสนล้าน วัดใจรัฐบาลทุ่มหมดหน้าตักดันประชานิยม

 

มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว 

นอกจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเบื้องต้นที่ประกาศออกมาแล้ว ยังเหลือนโยบายด้านอื่น ๆ ที่คาดว่าจะเข้ามามีเอี่ยวขอใช้งบกลางกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.87 แสนล้านบาทก้อนนี้พ่วงไปกับเงินดิจิทัลวอลเล็ตด้วย โดยเฉพาะมาตรการ “กระตุ้นการท่องเที่ยว” 

โดย "สรวงศ์ เทียนทอง" รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ยอมรับว่า จะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศออกมาแน่นอน ตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด และที่ผ่านมาได้หารือกับทางกระทรวงการคลังไปเบื้องต้นแล้ว เพื่อจะได้นำเข้าไปหารือในบอร์ดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง 

เบื้องต้นในแนวทางการดำเนินโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว ยังอยู่ระหว่างการชั่งน้ำหนักว่า จะทำในรูปแบบใดที่ได้ผลต่อเศรษฐกิจมากที่สุด เช่น การช่วยค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว 50-50 หรือ 60-40 ซึ่งโครงการนี้น่าจะออกมาใช้ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวปี 2568 ต่อไป

ส่วนกรณีการใช้งบประมาณจะสูงถึงหลักหมื่นล้านบาท หรือจะเท่ากับโครงการเราเที่ยวด้วยกันกว่า 2 หมื่นล้านบาทหรือไม่นั้น รมว.การท่องเที่ยวฯ ยอมรับว่า ขอไปหารือกับกระทรวงการคลังให้ได้ข้อสรุปก่อน

ข้อสรุป : สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้ถือเป็นการท้าทายความสามารถของรัฐบาล "แพทองธาร ชินวัตร" ในการบริหารงบประมาณก้อนใหญ่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกับสร้างแรงกระเพื่อมในเศรษฐกิจไทย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างไรก็ตาม การใช้เงินในครั้งนี้จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหาและไม่สร้างภาระทางการคลังในอนาคตด้วย