นางสาวเด่นดาว โกมลเมศ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยถึงผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ว่า บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 9,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ ทั้งสิ้น1,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% สะท้อนถึงแนวโน้มการขยายตัวของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามาใช้พื้นที่ลงทุนของอมตะ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากทุกกลุ่มธุรกิจหลัก ทั้งจากการโอนที่ดิน รายได้ค่าสาธารณูปโภค และการให้เช่าอาคารและโรงงานสำเร็จรูป และการทำพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อให้บริการกับลูกค้า
สำหรับรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการโอนที่ดิน 4,254 ล้านบาท เติบโตขึ้น 34% รายได้ค่าสาธารณูปโภคและอื่น ๆ 3,967 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 52% และรายได้จากการเช่าอาคารและโรงงานสำเร็จรูป 702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%
โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการโอนที่ดินไปแล้วทั้งสิ้น 766 ไร่ และมีมูลค่ายอดขายที่ยังไม่รับรู้รายได้ (Backlog) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 จำนวน 19,269 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในไตรมาส 4 จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายที่ดินเพิ่มขึ้น ดังนั้นเชื่อว่ายอดขายที่ดินในปีนี้ จะเป็นไปตามเป้าหมาย 2,500 ไร่
“ผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากการบริหารจัดการและการดำเนินกลยุทธ์ที่เน้นการพัฒนาธุรกิจทุกภาคส่วน ทั้งในด้านที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค และบริการให้เช่า ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเติบโตระยะยาวของบริษัท ที่มุ่งมั่นการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่เป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ ทั้งจากการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การบริหารจัดการน้ำและขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ และการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่อมตะยึดมั่นเพื่อสร้างการเติบโตให้กับชุมชนและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาธุรกิจกลุ่มอมตะได้วางเป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30% ภายในปี 2573 และมุ่งสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) ภายในปี 2583 โดยมีแผนงานด้านการจัดการพลังงาน การอนุรักษ์น้ำและธรรมชาติ และการบริหารจัดการขยะภายใต้แนวคิด Zero Waste to Landfill ซึ่งเป็นการลดขยะสู่การฝังกลบให้เหลือน้อยที่สุด
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเน้นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีจุดมุ่งหมายในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสร้างสังคมที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนและยังคงเดินหน้าพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) โดยมุ่งมั่นสร้างเมืองอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกับทุกภาคส่วน