นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Financial Policies for Sustainable Economy” ภายในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า ตามนโยบายการดึงดูดการลงทุนของรัฐบาล ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนสนใจลงทุนในประเทศไทยกว่า 7 แสนล้านบาท คาดสิ้นปี 67 นี้ จะทะลุ 1 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี
สำหรับธุรกิจที่เข้ามาก็ตอบสนองความยั่งยืน เช่น รถไฟฟ้า แบตเตอรี่ อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ และดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อสนับสนุนและดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศ รัฐบาลจะต้องเสนอนโยบายปรับโครงสร้างพลังงานเศรษฐกิจแห่งชาติ และออกมาตรการสนับสนุนการลงทุน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามา
สำหรับการลงทุนนั้น นักลงทุนอยากเห็นต้นทุนการเงินที่ต่ำ คือ 1. อยากเห็นดอกเบี้ยที่ต่ำ แม้ตอนนี้ดอกเบี้ยนโยบายต่ำ อย่างไรก็ตาม แต่มีเพียงบริษัทขนาดใหญ่ที่มีช่องทางเข้าถึงตลาดเงิน ตลาดทุน แต่บริษัทขนาดเล็กต้นทุนยังสูง
“เราจึงอยากเห็นอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งเราก็ต้องดูนโยบายการเงิน ซึ่งยังมีความกังวลว่านักลงทุนเข้ามาลงทุนเยอะ เงินเฟ้อจะสูง ช่วบ้านจะเดือดร้อน แต่ขอเรียนว่า เงินเฟ้อบ้านเรา ปีนี้คาดว่าไม่ถึง 1% โดยเงินเฟ้อต่ำชาวบ้านซื้อของได้ราคาถูกลง แต่กำลังการผลิตที่ผ่านมาต่ำ เราจึงอยากเห็นดอกเบี้ยลดลง ถือว่ายังมีช่องทาง เรื่องนโยบายการเงิน”
และ 2. อยากเห็นค่าเงินบาทอ่อน เนื่องจากไทยเป็นประเทศส่งออก หากถามว่าบ้านเราจะค่าเงินบาทอ่อนได้หรือไม่ ต้องมีวิธีจัดการ ถือเป็นมาตรการระยะยาว เพราะหากค่าเงินอ่อนเร็ว หรือแข็งเร็ว เรียกว่าไม่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ เมื่อนโยบายการเงินเอื้อลงทุน ไม่เกิดปัญหาที่ตามมา ด้านนโยบายการคลังนั้น ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีรัฐเข้ามาอุดหนุน 9 ปีที่ผ่าน เราอุดหนุนจากหนี้สาธารณะ 4.8 ล้านล้านบาท ขณะนี้ขยับขึ้นมา 11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมา 7-8 ล้านล้านบาท
“หนี้เยอะ หรือน้อย ไม่มีปัญหา อยู่ที่ว่ามีปัญญาคืนหรือไม่ ในแง่รัฐบาล เศรษฐกิจที่เติบโตเป็ความสุขของธุรกิจ และประชาชน ซึ่งรัฐจะนำการเติบโตจีดีพีสามากำหนดนโยบายการคลังได้ ที่ผ่านมา นโยบายการคลัง 2 ปีผ่านมา ขาดดุลกกว่า 4%ของจีดีพี คือ เราเก็บภาษีได้ 2.8-2.9 ล้านล้านบาท แต่เราติดลบปีละประมาณ 8 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลไม่อยากติดลบสูง ถ้าจีดีพีโต การสร้างหนี้ของรัฐบาล เมื่อหารจีดีพีจะไม่มากกว่าเดิม“
ทั้งนี้ นโยบายการเงินการคลังต้องสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ ได้แก่
1.เมื่อเศรษฐกิจโต ต้องดูว่ารัฐจะนำเงินมาสนับสนุนเอกชนอย่างไร นำมาสู่นโยบายการเงินในเรื่องการจัดเก็บรายได้ ซึ่งมีหลายบริษัทประกอบธุรกิจบริษัทข้ามชาติ ขณะนี้มีภาษี Global Minimum Tax Rate จากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ซึ่งควรจะคิดอัตราภาษี 15% จากปัจจุบันประเทศไทยคิดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้ลดอัตราภาษีลงมาได้ 15% เพื่อแข่งขันกับชาวโลก
2.การแย่งคนเก่งที่เข้ามาทำงานในประเทศของตัวเอง โดยสิงคโปร์มีการลดแลกแจกแถม เพื่อดังดูดคนเก่ง เราก็ต้องมีมาตรการ นอกจากวีซ่าที่ง่ายแล้ว จะต้องคิดถึงเรื่องการเข้ามาพักอาศัยในประเทศด้วย หลายประเทศลดภาษีบุคคลธรรมดาลง อยู่ระดับ 17-18% จากประเทศไทย 35% สุดท้ายมองว่าควรอยู่ระดับ 15% เราก็ต้องปรับตัว
อย่างไรก็ตาม ฐานภาษีเรายังต่ำ เพราะภาษีบริโภค หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) วันนี้อยู่ที่ระดับ 7% โดยเว้นจากกฎหมายที่ระบุให้เก็บได้ถึง 10% ขณะที่ทั่วโลกจัดเก็บภาษี Vat เฉลี่ยสูงถึง 15-25% นั่นแปลว่า วันนี้เราเก็บภาษีบริโภคในอัตราที่ต่ำอยู่
สำหรับภาษีบริโภค เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ผมอยากบอกว่า หากเก็บสูงขึ้นในสัดส่วนที่เหมาะสม จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนรายได้ต่ำอยู่รอด โดยช่องว่าระหว่างรายได้คนรวยและคนจนจะลดลง เพราะจะนำรายได้เข้ากองกลาง และนำมาส่งผ่านให้คนรายได้น้อยผ่านมาตรการต่างๆ เช่น สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การศึกษา และการรักษาพยาบาล เป็นต้น
นอกจากนั้น สามารถนำเงินกองกลางไปสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับนักธุรกิจในประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ให้มีต้นทุนต่ำ เช่น บ่อบำบัดน้ำเสีย การขนส่ง ต้นทุนพลังงาน เป็นต้น เมื่อต้นทุนต่ำการส่งออกก็จะมีต้นทุนที่ต่ำลง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จีดีพีไทยโตเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา 1.9% เราอยากเห็น ปี 67 หลังจากเข้ามาผลักดัน และขับเคลื่อนประเทศ จีดีพีแต่ละไตรมาสโตตามลำดับ คาดทั้งปีขยายตัวได้ 2.8% ส่วนปี 68 มุมมองต่างประเทศมองเราจะโตได้ 3% แต่ถ้าเราทำอะไรบางอยาก ผมก็อยากเห็น 4-5% แล้วภายใต้เงินเฟ้อที่เหมาะสม และย้ำกลับมาว่านโยบายการเงิน การคลังต้องเดินด้วยกัน
ขณะเดียวกัน ขอย้ำว่ารัฐบาลต้องกำกับเรื่องคาร์บอนเครดิต สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างศึกษากฎระเบียบ การสนับสนุนแพลตฟอร์มสำหรับการเทรดคาร์บอนเครดิต โดยสิงคโปร์มีการเทรดแล้ว ราคา 500 บาท ภายใน 5 ปีข้างหน้าราคาจะขยับไปถึง 1,000 บาท ขณะที่ไทย 50 บาท