“คลังสัญจร” ฟื้นล้านนา ชี้ 8 แบงก์รัฐช่วยชาวบ้านกว่า 9.4 หมื่นล้านบาท

01 ธ.ค. 2567 | 06:52 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2567 | 06:56 น.

นายกฯ เปิดโครงการ “คลังสัญจร” อ.แม่สาย จ.เชียงราย ชี้ 8 แบงก์รัฐช่วยชาวบ้านฟื้นฟูหลังประสบภัยน้ำท่วมกว่า 7.4 แสนราย มูลหนี้ 9.4 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเปิดงานคลังสัญจร อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูชมชุน เพื่อให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วม ได้เข้าถึงดูแลจากสถาบันการเงินของรัฐได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และการดำเนินธุรกิจของประชาชนเป็นอย่างมาก 

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน กระทรวงการคลังร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง โดยมีประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง เป็นจำนวนมากกว่า 740,000 ราย รวมยอดหนี้มากกว่า 94,000 ล้านบาท 

ส่วนการดำเนินมาตรการด้านการเงินในระยะต่อไปจะเป็นการเน้นการเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการฟื้นฟูและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ประชาชนสามารถกลับมามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืนได้ร่วมกันออกมาตรการด้านการเงินเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวัน ประกอบอาชีพ และประกอบธุรกิจต่อไปได้

“คลังสัญจร” ฟื้นล้านนา ชี้ 8 แบงก์รัฐช่วยชาวบ้านกว่า 9.4 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ สถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือลูกหนี้ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามกลุ่มเป้าหมายของแต่ละสถาบันการเงิน ทั้งในส่วนของลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ซึ่งมีทั้งมาตรการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ย รวมไปถึงมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 

นอกจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่งตามที่ได้กล่าวไปแล้ว กระทรวงการคลังยังได้มีมาตรการเสริมสภาพคล่อง สำหรับผู้ประสบอุทกภัย ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ จัดสรรวงเงินจำนวน 50,000 ล้านบาท จากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสิน

“โครงการนี้ นำมาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับมาฟื้นฟูกิจการเพื่อประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจได้ต่อไปภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง และ บสย. ได้จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ฟื้นฟู No One Left Behind วงเงินค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย”

สำหรับสถาบันการเงินของรัฐ 8 แห่ง ได้แก่ 

  1. ธนาคารออมสิน
  2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
  3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
  4. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)
  5. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 
  6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
  7. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)