วันนี้ (3 ธันวาคม 2567) เวลา 13.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบนาย Jensen Huang ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท NVIDIA นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้พบ บริษัท NVIDIA ถือเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ การพบหารือครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญในการกระชับความร่วมมือ และแสวงหาความร่วมมือในอนาคตเพื่อบรรลุเป้าหมายของเราร่วมกัน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังยินดีกับความร่วมมืออย่างเป็นทางการในการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและ NVIDIA ด้วย
ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท NVIDIA กล่าวว่า การเดินทางมาไทยครั้งนี้เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความร่วมมือและให้การสนับสนุน startup ในไทยกว่า 50 ราย และมหาวิทยาลัยไทยอีกกว่า 40 แห่ง โดยหวังว่าจะมีส่วนช่วยจุดประกายและเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนา AI ในไทยมากยิ่งขึ้น
ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือในประเด็นต่างๆ ร่วมกัน ดังนี้
ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า AI มีความสำคัญต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงของประเทศ ช่วยให้ประเทศสร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างงาน และปกป้องประชาชน ซึ่งบริษัท NVIDIA พร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ระดับโลก รวมทั้งแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีและความเชี่ยวชาญทางเทคนิคเพื่อสนับสนุนโครงการด้าน AI ของไทย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท NVIDIA เห็นถึงความสำคัญของบุคลากรด้าน AI ที่ถือเป็นหัวใจของอุตสาหกรรม AI การลงทุนด้านการศึกษาและการฝึกอบรมด้าน AI จะช่วยให้ไทยพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะให้สามารถขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ได้ โดย NVIDIA พร้อมสำรวจโอกาสความร่วมมือในด้านนี้
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับด้านการศึกษา และการพัฒนาทักษะ เพื่อนำ AI ไปประยุกต์ใช้ในด้านอื่นๆ โดยรัฐบาลมุ่งมั่นที่ให้ AI เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี พร้อมหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะได้มีการหารือเพื่อแสวงหาความร่วมมืออย่างลึกซึ้งต่อไป
ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท NVIDIA เล็งเห็นถึงศักยภาพและความสามารถของไทยในการพัฒนา AI โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานข้อมูล ทรัพยากรบุคคล และเครือข่ายธุรกิจภายในประเทศ ให้สอดคล้องกับภาษาถิ่น วัฒนธรรม และแนวปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น การดูแลสุขภาพ เกษตรกรรมอัจฉริยะ สำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และเห็นว่า ไทยมีบุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมาก จึงหวังว่าจะใช้โอกาสนี้เดินหน้าความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว