กิจการอะไรบ้างที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

04 ธ.ค. 2567 | 06:32 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2567 | 06:32 น.

สรรพากรเผย มี 23 กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หลังรัฐบาลส่งสัญญาณปรับเพิ่มแวตจาก 7% ในแผนปรับโครงสร้างภาษี เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้รัฐบาล

หลังจากที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาส่งสัญญาณว่า อัตราภาษีของไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ แวต (VAT) ที่ปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 7% ขณะที่ทั่วโลกจัดเก็บในอัตราสูงเฉลี่ย 15-25%

ส่งผลให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลกำลังจ้องรีดเลือดกับปู ในภาวะที่ประชาชนกำลังได้รับความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ส่งผลให้ล่าสุด นายพิชัยออกมาบอกว่า แนวคิดการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นเพียงการชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มทั่วโลกเขาทำกันอย่างไร แต่ขอไปศึกษาเท่านั้นเอง ส่วนการดำเนินการอย่างไร ต้องดูทั้งหมดในภาพรวมก่อน  

อย่างไรก็ตาม แม้แวต หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเป็นการคิดจากราคาสินค้าและบริการ แต่รายงานข่าวจากกรมสรรพากรระบุว่า ยังมีกิจการบางแห่งที่ได้รับยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม

กิจการที่ได้รับการยกเว้นแวต 

  1. การขายสินค้าหรือให้บริการของผู้ประกอบการที่มีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
  2. การขายพืชผลทางการเกษตรภายในราชอาณาจักร เช่น ข้าว ผักและผลไม้ เป็นต้น
  3. การขายสัตว์ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตภายในราชอาณาจักร เช่น ไก่หรือเนื้อสัตว์
  4. การขายปุ๋ย
  5. การขายปลาป่น อาหารสัตว์
  6. การขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุงรักษาป้องกัน ทำลาย หรือ กำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์
  7. การขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน

 ผู้ประกอบกิจการตาม  1. ถึง 7. จะเลือกเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้

8. การนำเข้าสินค้าตาม 2. ถึง 7.

9. การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

10. การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ แต่หากเป็นการให้บริการขนส่งโดยอากาศยาน และการให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อ ผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้

11. การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศทางบกและทางเรือซึ่งมิใช่เรือเดินทะเล 

12. การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลทางราชการและเอกชน 

13. การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์

14. การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น

15. การให้บริการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ

16. การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ

17. การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์

18. การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรม ในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

19. การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน

20. การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย

21. การให้บริการวิจัย หรือการให้บริการทางวิชาการ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการตามที่กรมสรรพากรกำหนด คือ ต้องเป็นการวิจัยหรือบริการทางวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์และสาขาสังคมศาสตร์ แต่ต้องมิใช่เป็นการกระทำในทางธุรกิจ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือมูลนิธิ

22. การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ไม่รวมถึงบริการที่เป็นการพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นการหารายได้ หรือผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นกิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ก็ตาม

23. การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น

24. การบริจาคสินค้าให้แก่สถานพยาบาล และสถานศึกษาของทางราชการ หรือให้แก่ องค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือสถานพยาบาลและสถานศึกษาอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

25. การขายบุหรี่ซิกาแรต ที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ซึ่งผู้ขายเป็นบุคคลอื่นที่มิใช่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง

26. การขายสลากกินแบ่งของรัฐฯ สลากออมสินของรัฐฯ และสลากบำรุงสภา-กาชาดไทย

27. การขายแสตมป์ไปรษณีย์ แสตมป์อากร แสตมป์อื่นของรัฐฯ องค์การของรัฐฯ หรือ องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เฉพาะที่ยังไม่ได้ใช้ในราคาที่ไม่เกินมูลค่าที่ตราไว้

28. การให้บริการสีข้าว