แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาออกกฎหมายสำคัญ คือ ร่างพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. .... ซึ่งจะเสนอพร้อมกับร่างพระราชกำหนดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
ทั้งนี้เพื่อรองรับเกณฑ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ภายใต้มาตรการ Pillar 2 เพื่อดำเนินการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax : GMT) ในอัตรา 15% และส่งเงินภาษีบางส่วนที่จัดเก็บได้ให้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บีโอไอได้เสนอร่างกฎหมายของบีโอไอ ให้กับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรจุเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว โดยคาดว่า เร็ว ๆ นี้จะนำเข้าสู่การประชุมครม.ได้
“กฎหมายฉบับนี้จะแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD Pillar 2 โดยบีโอไอเสนอกฎหมายมาให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว สอดคล้องกับการเก็บภาษีส่วนเพิ่มที่กระทรวงการคลังจะออกมารองรับการเสียภาษีขั้นต่ำ หรือ Global Minimum Tax อัตรา 15% ด้วย” นายนฤตม์ กล่าว
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ แก้ไขกฎหมายการเพิ่มขีดความมสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 เพื่อเพิ่มเติมแหล่งเงินของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้กองทุนฯ สามารถรับเงินที่ได้รับจากการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มตามประมวลรัษฎากร โดยกรมสรรพากรจัดสรรให้ในอัตราร้อยละตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบ
การดำเนินการดังกล่าว เป็นการปรับปรุงมาตราการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อให้ประเทศไทยยังคงความสามารถในการชักจูงการลงทุนและรักษาฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศในระยะต่อไป
สอดคล้องกับกรณีที่กรมสรรพากรได้ตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax : GMT) ในอัตรา 15% และส่งเงินภาษีบางส่วนที่จัดเก็บได้ให้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อบรรเทาภาระภาษีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมต้องชำระตามมาตรการ Pillar 2
ทั้งนี้ตามเกณฑ์ OECD ได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคดิจิทัล Pillar 2 โดยกำหนดให้กลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้ตั้งแต่ 759 ล้านยูโรขึ้นไป หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท ต้องเสียภาษีขั้นต่ำ ในอัตรา 15% โดยในกรณีที่บริษัทในเครือในประเทศใดมีอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่า 15% จะมีกระบวนการให้ประเทศนั้น หรือประเทศของบริษัทแม่ หรือประเทศของบริษัทในเครือสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม ให้ครบตามอัตราภาษีขั้นต่ำต่อไป
นายนฤตม์ กล่าวว่า หากกฎหมายผ่านการเห็นชอบจากครม. เมื่อกระทรวงการคลังเก็บภาษีส่วนที่เพิ่มมาแล้ว บีโอไอจะใช้เงินจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถไฟช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น การช่วยเหลือเงินลงทุน หรือค่าใช้จ่ายบางรายการที่นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะทาง OECD สามารถยอมรับการช่วยเหลือในลักษณะนี้ได้