วาระลับ ครม.ผ่านร่าง พ.ร.ก. 2 ฉบับ เก็บภาษีส่วนเพิ่มบริษัทข้ามชาติ

11 ธ.ค. 2567 | 06:46 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2567 | 07:10 น.

ครม. ผ่านวาระลับ อนุมัติร่าง พ.ร.ก. 2 ฉบับ เก็บภาษีส่วนเพิ่ม และแก้กฎหมายบีโอไอ รอรับเงินเข้ากองทุนเพิ่มขีดความสามารถประเทศ รับเกณฑ์ OECD เก็บภาษีขั้นต่ำบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ 15%

วันนี้ (11 ธันวาคม 2567) แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ ซึ่งเสนอเข้ามาเป็นวาระลับ ประกอบด้วย ร่างพ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. .... ของกระทรวงการคลัง และ ร่างพระราชกำหนดการแก้ไขพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) 

สำหรับร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับนี้ที่เสนอเข้ามาในการประชุมครม.ครั้งนี้ จะเป็นไปตามเกณฑ์ของ OECD ภายใต้มาตรการ Pillar 2 เพื่อดำเนินการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax : GMT) ในอัตรา 15% และส่งเงินภาษีบางส่วนที่จัดเก็บได้ให้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD

ทั้งนี้เมื่อร่างพ.ร.ก.ทั้งคู่ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม. แล้ว จะเสนอต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบรายละเอียดและคำต่าง ๆ ของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จากนั้นจึงนำเข้าสู่ขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป คาดว่า จะประกาศให้มีผลใช้บังคับใช้ในปี 2568 นี้ 

ด้านนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ในหลักการของร่างพ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. .... ที่กระทรวงการคลังจัดทำก่อนหน้านี้ จะอยู่ภายใต้มาตรการ Pillar 2 ตามเกณฑ์ของ OECD โดยจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (GMT) ในอัตรา 15% และที่ผ่านมานักลงทุนต่างชิตก็ร้องขอเข้ามาให้ประเทศไทยเร่งดำเนินการด้วย หลังจากหลาย ๆ ประเทศที่เป็นสมาชิกก็ดำเนินการในลักษณะนี้แล้ว

ส่วนประเด็นข้อกฎหมายและสาระสำคัญของเรื่อง ซึ่งเดิมกำหนดให้ออกเป็นร่าง พ.ร.บ. แต่ท้ายที่สุดกลับเปลี่ยนเป็น ร่างพ.ร.ก.แทนนั้น เห็นว่า เป็นเรื่องของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งกระบวนการส่วนใหญ่ของกฎหมายภาษีจะออกเป็น พ.ร.ก. เพราะไม่ควรทำอะไรที่ส่งสัญญาณล่วงหน้า และเมื่อตัดสินใจแล้วก็ควรทำทันที และกระทรวงการคลังคาดว่าจะมีสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาท

สำหรับการดำเนินการตามเกณฑ์ OECD ที่ผ่านมาได้กำหนดการจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคดิจิทัล Pillar 2 โดยกำหนดให้กลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้ตั้งแต่ 759 ล้านยูโรขึ้นไป หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท ต้องเสียภาษีขั้นต่ำในอัตรา 15%

โดยในกรณีที่บริษัทในเครือในประเทศใดมีอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่า 15% จะมีกระบวนการให้ประเทศนั้น หรือประเทศของบริษัทแม่ หรือประเทศของบริษัทในเครือสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมให้ครบตามอัตราภาษีขั้นต่ำด้วย