ชงครม.คลอดกฎหมาย "เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน" รับเกณฑ์ภาษี OECD

13 พ.ย. 2567 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2567 | 11:08 น.

รัฐลุยแก้กฎหมายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เตรียมชงครม.ไฟเขียวออกกฎกระทรวงใหม่ รับเกณฑ์ภาษี OECD บริษัทใหญ่ต้องเสียภาษีขั้นต่ำ อัตรา 15%

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับ ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งที่ผ่านมาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เสนอมายังกฤษฎีกาเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่า ในขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

ทั้งนี้ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ยกร่างกฎหมายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ฉบับนี้ ซึ่งเป็นการแก้เพิ่มเติมกฎหมายฉบับเดิมเนื่องจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคดิจิทัล Pillar 2 

โดยกำหนดให้กลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้ตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป (ประมาณ 28,000 ล้านบาท) ต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax : GMT) ในอัตรา 15% โดยในกรณีที่บริษัทในเครือในประเทศใดมีอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate : ETR) ต่ำกว่า 15% จะมีกระบวนการให้ประเทศนั้น หรือประเทศของบริษัทแม่ หรือประเทศของบริษัทในเครือสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมให้ครบตามอัตราภาษีขั้นต่ำ โดยให้สิทธิจัดเก็บภาษีตามลำดับ

อย่างไรก็ดีแนวทางดังกล่าวมีผลทำให้กรมสรรพากรจำเป็นที่จะต้องตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีให้ครบในอัตราดังกล่าว (Top-up Tax) และส่งเงินภาษีบางส่วนที่จัดเก็บได้ให้กับกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติเพื่อให้กองทุนฯสามารถรับเงินดังกล่าวได้ 

รายงานข่าวแจ้งว่า เหตุผลความจำเป็นของกฎหมายฉบับนี้ เป็นผลมาจากการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถฯ ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะเป็นวงกว้าง จึงต้องอาศัยมาตรการควบคุมและกำกับดูแลการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวที่มีความเข้มงวดสูง กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศฯ 

ดังนั้นจึงใช้ระบบการอนุญาต/ใบอนุญาต ซึ่งเป็นระดับที่ 4 ของระดับการควบคุม การกำกับดูแล การที่รัฐจะเข้าไปแทรกแซงเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการทำกิจกรรม การดำเนินชีวิต หรือการประกอบธุรกิจของประชาชนในกฎหมาย ตามคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การใช้ระบบอนุญาตในกฎหมาย ในการปฏิบัติการให้การให้ส่งเสริมแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ประกอบกับการพิจารณาการอนุมัติการส่งเสริมต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญหลายสาขาในการดำเนินการ เพราะผลประโยชน์ของโครงการอุตสาหกรรมเป้าหมายได้สร้างประโยชน์อย่างสูงต่อเศรษฐกิจ สังคม และ ความมั่นคงของประเทศ เป็นการดำเนินการตามลักษณะในคำแนะนำของคณะพัฒนากฎหมาย เรื่องการใช้ระบบคณะกรรมการในกฎหมาย การใช้ระบบคณะกรรมการใน พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถฯ จึงเป็นการดำเนินการโดยชอบแล้ว