ภายหลังจากการเลือกตั้งในปี 2566 ล่าสุดพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลนั้น
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม 1 ในหน่วยงานภาครัฐที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้ง 4 มิติ ประกอบด้วย ระบบขนส่งทางบก ระบบขนส่งทางน้ำ ระบบขนส่งทางราง และระบบขนส่งทางอากาศ ภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ล่าสุดกระทรวงคมนาคมในยุค “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ซึ่งครบรอบ 1 ปี ภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยพบว่ามีผลงานบิ๊กโปรเจ็กต์ที่สำคัญ ดังนี้
1.การผลักดันผลงานนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ซึ่งนำร่อง 2 สาย ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วง และจะดำเนินการให้รถไฟฟ้าทุกเส้นทางในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล สามารถใช้นโยบายนี้ได้ภายในเดือนกันยายน 2568
ขณะเดียวกันเมื่อไม่นานมานี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบต่ออายุมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟชานเมืองสายสีแดง ออกไปอีก 1 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการนี้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2568
2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ที่ผลักดันเข้าที่ประชุมครม. ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากครม. โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
ล่าสุดโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก ได้เริ่มดำเนินการลงพื้นที่เพื่อเตรียมรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ตามแผนคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือนมกราคม 2568 และเปิดให้บริการปี2573
3.โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) วงเงิน 18,699 ล้านบาท ซึ่งได้ประมูลแล้วเสร็จ โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ลงนามสัญญาจ้างเพื่อก่อสร้างแล้ว
ขณะเดียวกันปัจจุบันเอกชนอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเข้าพื้นที่ดำเนินการก่อสร้าง โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนเพื่อดำเนินโครงการฯแล้ว คาดว่าเอกชนจะสามารถขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานภาครัฐเพื่อดำเนินการก่อสร้างได้เร็วๆ นี้
สำหรับโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กิโลเมตร มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนมีที่ดินจำนวน 471 ไร่ 99 ตารางวา และอาคารและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 134 หลัง โดยแหล่งเงินทุนที่ใช้ในส่วนการก่อสร้างจะระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ที่มีอยู่แล้ว 14,374 ล้านบาท และใช้เงินกู้ 5,960 ล้านบาท
4.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย หลังจากรฟท.ได้เปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างนั้น จากการประมูลโครงการฯ พบว่า กิจการร่วมค้า ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ด้วยมูลค่าโครงการ 28,679 ล้านบาท โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เสนอผลการประกวดราคาไปยังคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณาอนุมัติแล้ว
ทั้งนี้ปัจจุบันสถานะดำเนินงานอยู่ในขั้นตอนจัดเตรียมเอกสารเพื่อลงนามสัญญา เบื้องต้นคาดว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประกวดราคาได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ ก่อนออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และเริ่มงานก่อสร้างทันทีภายในไตรมาส 1 ปีหน้า