นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนา Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ช่วง Mobility Infrastructure for Sustainability’s Journey จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า จากคำแถลงนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ธารนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 ที่เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็นโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมของทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมนั้น
ทั้งนี้รัฐจะเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศอย่างไร้รอยต่อ โดยส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางถนน ลดต้นทุนโลจิสติกส์ สร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองสอดคล้องกับการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับท่าเรือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนสินค้าทางทะเลให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและภูมิภาคโลจิสติกส์ รวมถึงการพัฒนาสนามบินและเปิดเส้นทางบินใหม่ๆเพื่อไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค
ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมพร้อมขับเคลื่อนคมนาคมขนส่งที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานในกระทรวงคมนาคมใช้เป็นนโยบายในการทำงาน ภายใต้นโยบายคมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย โดยยกระดับให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาคอย่างยั่งยืน รวมถึงได้มอบหมายทุกหน่วยงานเพิ่มประสิทธิภาพและเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งในประเทศทุกมิติ ครอบคลุมทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ พร้อมเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้มอบหมายหน่วยงานต่างๆให้ดำเนินการตามกรอบนโยบาย 9 แนวทาง ดังนี้ 1. สานต่อโครงการต่างๆตามแผนแม่บทของกระทรวงคมนาคม 2.ส่งเสริมโครงข่ายคมนาคมให้เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ 3.สร้างโอกาสในการลงทุน 4.ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งได้อย่างเท่าเทียม 5.เปิดโอกาสให้โลจิสติกส์ไทย
6.สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กรีนโลจิสติกส์เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 7.เพิ่มความปลอดภัยภาคคมนาคมขนส่งทั้งในช่วงก่อสร้างและการให้บริการ โดยมุ่งเน้นการกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน 8.ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และหลักธรรมาภิบาลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ 9.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติ
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การดำเนินการตามกรอบนโยบายของกระทรวงคมนาคมแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1. ระยะเร่งด่วน โดยเร่งรัดสานต่อโครงการให้แล้วเสร็จตามแผน 2.ระยะกลาง 1-3 ปี ขับเคลื่อนการลงทุนและก่อสร้างเพื่อเปิดให้บริการได้ตามแผน 3.ระยะยาว 5 ปี ขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ตามแผนแม่บท
นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนเป็นการขนส่งทางรางและทางน้ำ รวมถึงการส่งเสริมและผลักดันให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทางทุกรุปแบบในกรุงเทพฯและปริมณฑลทุกรูปแบบ โดยมีเป้าหมายให้ระบบคมนาคมขนส่งทั้งคนและขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้สร้างโอกาสแก่ประเทศชาติ เช่น การแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดและปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 จากท่อไอเสียรถยนต์โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ฯลฯ หากผู้ประกอบการขนส่งสินค้าหันมาใช้ระบบขนส่งทางรางและทางน้ำมากขึ้นแทนการขนส่งทางถนนจะช่วยลดต้นทุนขนส่งโลจิสติกส์ ส่งผลให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันกับสินค้าประเทศอื่นๆได้
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ พบว่าปัญหาในอดีต การขนส่งในเมืองมักมีปัญหาการจราจรติดขัด เกิดมลพิษทางอากาศและการใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากประชาชนใช้รถยนต์ส่วนตัวไม่ได้มุ่งเน้นการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยการแก้ปัญหาเรื่องนี้กระทรวงคมนาคมได้มุ่งเน้นการพัฒนารถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯเชื่อมต่อสนามบิน สถานีขนส่งและสถานที่สำคัญต่างๆ รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรอง (ฟีดเดอร์) ทั้ง ทางเท้า ทางจักรยาน รถโดยสาร รถแท็กซี่ ฯลฯได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้จากปัญหามลพิษทางอากาศที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ในหลายประเทศเริ่มหาแนวทางลดมลพิษทางอากาศ โดยกระทรวงคมนาคมได้ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้า เช่น การเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งรถโดยสารไฟฟ้าระหว่างเมือง ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนารถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวม 14 เส้นทาง ระยะทาง 554 กม.โดยเปิดให้บริการแล้ว 13 โครงการ ระยะทาง 276.84 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ ระยะทาง 84.30 กม. อยู่ระหว่างขออนุมัติ 3 โครงการ ระยะทาง 29.34 กม. เตรียมความพร้อม 12 โครงการ ระยะทาง 162.93 กม.
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ โดยเปิดให้บริการแล้ว 4,044 กม. ก่อสร้างเสร็จ 5 เส้นทาง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 เส้นทาง ขออนุมัติโครงการและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 6 โครงการ และครม.อนุมัติแล้วพร้อมประกวดราคา 1 โครงการ
ขณะที่การพัฒนารถไฟความเร็วสูง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทาง 473 กม. ประกอบด้วย ไฮสปีด เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม.ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง และรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง ส่วน 1 เส้นทางอยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการ คือ ไฮสปีดเฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ฯลฯ
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ด้านการพัฒนาขนส่งทางน้ำ กระทรวงมีการพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะ จำนวน 18 ท่า ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 11 ท่า คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 68 จำนวน 5 ท่า และภายในปี 70 จะเปิดให้บริการได้ 13 ท่า รวมเป็น 29 ท่า
นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาท่าเรือสำราญ (Cruise Terminal) ได้แก่ ชลบุรี เกาะสมุย และภูเก็ต เพื่อเป็นท่าเรือท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เพื่อเพิ่มท่าเทียบเรือและแก้ไขปัญหารการจราจรภายในท่าเรือให้เกิดความสะดวก
ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศ ได้ผลักดันให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ใน 20 อันดับโลกภายในปี 72 โดยในระยะเร่งด่วน จะนำเทคโนโลยีใหม่มาให้บริการและเร่งปรับปรุงอาคารสถานที่ที่ดำเนินการได้ทันที รวมถึงการตรวจ FAA เพื่อปรับระดับมาตรฐานการบินและการเตรียมพร้อมในการตรวจของ ICAO ตลอดจนการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินในภูมิภาค เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น
สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ผ่านการก่อสร้างท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน โดยการศึกษาพบว่าจะช่วยลดต้นการขนส่งสินค้า 15-20% และเพิ่มการจ้างงานได้ 2 แสนอัตรา คาดว่าจะทำให้จีดีพีของไทยโตขึ้น 5.5%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง