นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับการลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย กับกิจการร่วมค้า ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง มูลค่าโครงการ 28,679 ล้านบาท
ทั้งนี้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ภายใต้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง (การพัฒนาระบบรถไฟรางคู่) ระยะที่ 2
ขณะเดียวกันรฟท.ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอของดครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567 ปรากฏว่า มีผู้สนใจเข้ายื่นเอกสารทั้งสิ้น จำนวน 4 ราย พบว่า กิจการร่วมค้า ช.ทวี - เอเอส ก่อสร้าง เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ด้วยมูลค่าโครงการ 28,679 ล้านบาท และ รฟท.ได้เสนอผลการประกวดราคาไปยังคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาอนุมัติแล้ว
นายวีริศ กล่าวต่อว่า ภายหลังการลงนามสัญญาครั้งนี้ รฟท.จะเร่งประสานสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อดำเนินการจัดหาแหล่งเงินกู้นำมาดำเนินโครงการนี้ เบื้องต้นประเมินว่าจะสามารถลงนามสัญญาเงินกู้ได้ในช่วงปลายเดือน ก.พ.2568
หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนเตรียมเอกสารอนุญาตให้เอกชนเข้าพื้นที่ (NTP) จึงคาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่และให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ในเดือน เม.ย.2568 โดยใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี แล้วเสร็จเปิดบริการในปี 2571
นอกจากนี้ รฟท.จะเร่งเปิดประกวดราคาก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ให้ครบ 7 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.8 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบราง ขยายโครงข่ายเส้นทางรถไฟทางคู่เพิ่มเติมอีก 1,488 กิโลเมตร โดยคาดว่าในเดือน ม.ค.2568 จะเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบดำเนินการประกวดราคารถไฟทางคู่ทั้ง 6 เส้นทาง หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนเตรียมเอกสารประกวดราคา (TOR)
สำหรับแผนดำเนินงานสำหรับรถไฟทางคู่อีก 6 เส้นทาง รฟท.ประเมินเบื้องต้นว่าหลังจากเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบในเดือน ม.ค.2568
ขณะเดียวกัน รฟท.จะเตรียมเอกสารประกวดราคา โดยใช้เวลาราว 3 เดือน เบื้องต้นจึงจะได้เห็นการประกวดราคารถไฟทางคู่เส้นทางที่เหลือในเดือน เม.ย.2568 เป็นต้นไป โดยจะทยอยเปิดประมูลทีละ 2 โครงการ หลังจากนั้นจะเว้นช่วงดำเนินการเตรียมเอกสารอีก 2 เดือน เพื่อเปิดประมูลครั้งต่อไป
นายวีริศ กล่าวต่อวว่า โครงการรถไฟทางคู่ที่คาดว่าจะนำมาเปิดประมูลหลังจากนี้ จะแบ่งเป็น ส่วนแรก คือ รถไฟทางคู่สายปากน้ำโพ - เด่นชัย ระยะทาง 281 กิโลเมตร วงเงิน 81,143 ล้านบาท และช่วงชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 44,103 ล้านบาท
นอกจากนี้ในส่วนที่สอง คือ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 30,422 ล้านบาท ช่วงสุราษฎร์ธานี – หาดใหญ่ - สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 66,270 ล้านบาท ช่วงหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 7,900 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามส่วนสุดท้าย คือ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 68,222 ล้านบาท เนื่องจากโครงการนี้ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)