“คมนาคม”ดันประมูลรถไฟทางคู่เฟส 2 รับเหมาชิงเค้ก2.7แสนล้าน

08 พ.ย. 2566 | 00:28 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2566 | 01:30 น.

“คมนาคม” ชง ครม. ปูพรมประมูลรถไฟทางคู่ เฟส 2 จับตารับเหมา-แรงงานกระหึ่ม ชิงเค้ก 2.7 แสนล้าน “สุรพงษ์” ดัน 3 เส้นทางเร่งด่วนล็อตแรก ลุยประมูล

 

รัฐบาล“เศรษฐา” ให้ความสำคัญ กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐ ต่อเนื่องจากรัฐบาล“ประยุทธ์” ทั้งบก-ราง-น้ำ-อากาศ เครื่องยนต์ตัวใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะแผนลงทุนโครงข่ายระบบราง รถไฟทางคู่ ให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมถึง เชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว การเดินทาง ที่ประเมินว่า ระบบรางเป็นการเดินทางที่สะดวก ปลอดภัย ประหยัดต้นทุนพลังงาน ลดมลพิษ แล้ว ทุกพื้นที่ที่มีเส้นทางรถไฟพาดผ่านได้สร้างความเจริญโดยเฉพาะบริเวณรอบสถานี

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม เร่งผลักดันโครงการต่อเนื่อง เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติ เพื่อเติมเต็ม โครงข่ายในส่วนที่ขาดและ สร้างความสะดวกให้ความประชาชนที่มั่งคงและยั่งยืนต่อไป โดยโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่2 มีทั้งหมด 7เส้นทาง ระยะทางรวม 1,479 กิโลเมตร วงเงิน 275,301 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เป็นเนื้อเดียว หลังจากโครงการรถไฟทางคู่ ระยะแรก 6 เส้นทาง ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 เส้นทางอยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 เส้นทาง

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแล กล่าวว่า หลังจาก มอบนโยบายรฟท. เบื้องต้นมีโครงการสำคัญที่ต้องเร่งรัดเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน3 เส้นทาง มูลค่า 106,960 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเปซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 6,660 ล้านบาท 2.ทางคู่สายชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 37,500 ล้านบาท และ 3.ทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,800 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณาต่อไป

 หลังจากนั้นจะต้องขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และกรมการขนส่งทางราง เป็นต้น และกลับมาที่เสนอกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยทั้ง 3 เส้นทางดังกล่าวคาดว่าจะเปิดประมูลได้ประมาณปี 2567

ด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 29,748 ล้านบาท นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า ได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.หลังจากนี้จะต้องดำเนินการจัดทำเอกสารประกาศประกวดราคา (ทีโออาร์) เปิดประมูล ได้ต้นปี 2567 ส่วนสำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเปซาร์คาดว่าจะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เดือนพฤศจิกายนนี้ และเสนอครม.เห็นชอบต่อไป ส่วนสาเหตุที่รฟท.เร่งผลักดันโครงการรถไฟทางคู่สายนี้ เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวมีปริมาณการขนส่งยางพาราจำนวนมากทำให้ภาครัฐเล็งเห็นว่าการค้าชายแดนระหว่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ 

  สำหรับความคืบหน้า ทางคู่ ระยะที่ 1 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 4 โครงการ ระยะทาง 613 กิโลเมตร วงเงินรวม 86,347 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กิโลเมตร วงเงินรวม 2.15 หมื่นล้านบาท แบ่ง 2 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม ระยะทาง 29 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 10,050 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า ยูเอ็น-เอสเอช (ยูนิค/ชิโน-ไฮโดร) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 88.48% สัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 8,649 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 80.08% โดยทั้ง 2 สัญญาจะเปิดใช้เส้นทางปี 2567

 2. ทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 27,453 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง 58 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 7,560 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 96.31% โดยจะเปิดให้บริการภายในปี 2568

สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 69 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 7,060.58 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงรูปแบบก่อสร้างเพื่อขออนุมัติรวมทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

 ส่วนสัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ ระยะทาง 8 กิโลเมตร จำนวน 3 อุโมงค์ โดยอุโมงค์ที่ 1 ระยะทาง 5.85 กิโลเมตร อุโมงค์ที่ 2 ระยะทาง 0.65 กิโลเมตร อุโมงค์ที่ 3 ระยะทาง 1.40 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 9,290 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า อิตาเลียนไทย ไรท์ทีนเนลลิ่ง (ITD-RT) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 98.188% โดยจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566

 3.รถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทางรวม 169 กิโลเมตร วงเงิน 20,145 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 8,198 ล้านบาท มี บจก.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 97.208% สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน ระยะทาง 76 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 7,520 ล้านบาท มี บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้า 98.243% โดยทั้ง 2 สัญญา จะเปิดให้บริการภายในปี 2567

และ 4.รถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทางรวม 167 กิโลเมตร วงเงิน 17,249 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย ระยะทาง 88 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 6,465 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า KS-C โดยมีเคเอสร่วมค้า และ China Railway 11th เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 94.208% ส่วนสัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร ระยะทาง 79 กิโลเมตร (กม.) ค่าก่อสร้าง 5,992 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า STTP โดยมีชิโน-ไทยและไทยพีค่อน เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 97.662% โดยทั้ง 2 สัญญาจะเปิดให้บริการภายในปี 2567

 ด้านนางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า กรณีที่ภาครัฐมีแผนจะเปิดประมูลโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จะส่งผลต่อผู้รับเหมาอย่างไรนั้น ถือเป็นเรื่องดีต่อผู้รับเหมา หากมีการเปิดประมูลโครงการฯ โดยเฉพาะผู้รับเหมาไทย ซึ่งเราอยากส่งเสริมให้ผู้รับเหมาในไทยได้ประมูลโครงการของภาครัฐ เพราะจะทำให้เงินหมุนเวียนภายในประเทศ

 

  ประมูลรถไฟทางคู่เฟส2