เปิดยุทธศาสตร์งบ 69 วงเงิน 3.74 ล้านล้านบาท อัดประชานิยมเต็มสูบ

21 ธ.ค. 2567 | 01:00 น.

เปิดยุทธศาสตร์งบ 69 “รัฐบาลแพทองธาร” จัดสรรหนุน“ประชานิยม”เต็มสูบ ทั้ง “สถานบันเทิงครบวงจร – ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาเดียวตลอดสาย - ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ - แก้หนี้ - Landbridge - ดึงคอนเสิร์ต-กีฬาระดับโลกจัดในไทย”

KEY

POINTS

 

  • กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 รัฐบาลได้ตั้งงบไว้ที่ 3.743 ล้านล้านบาท ขาดดุลการคลัง 703,000 ล้านบาท 
  • กรอบงบประมาณดังกล่าว “รัฐบาลแพทองธาร” ได้จัดสรรหนุน “ประชานิยม”เต็มสูบ ทั้ง “สถานบันเทิงครบวงจร – ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย - ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ - แก้หนี้ – Landbridge”
  • ที่สำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ ผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) สร้างความเท่าเทียมทางโอกาส และเศรษฐกิจ
     

ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ของรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 เป็นสิ่งยืนยันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันนโยบายสำคัญหลายด้านอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณปี 2569 ได้ตั้งงบประมาณรายจ่าย 3.743 ล้านล้านบาท ขาดดุลการคลัง 703,000 ล้านบาท และประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ อยู่ที่ 3.040 ล้านล้านบาท

พิทักษ์สถาบันกษัตริย์

สำหรับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ 2569 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง

1. พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ การดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ เร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตย

การแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร แก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ สร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการปฏิรูปกองทัพ

2. ดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศอย่างจริงใจและสร้างสรรค์ เดินหน้าสานต่อนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เตรียมความพร้อมเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

สร้างความสามารถการแข่งขัน

ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

1. สร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) หาโอกาสในตลาดใหม่ ๆ และอาหารฮาลาล ฟื้นนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และราคาพืชผล ยกระดับรายได้ของเกษตรกร 

2. ส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ปรับกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) 
ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ (Digital Economy) ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเพื่อตั้ง Data Center และโรงงานผลิตชิป ชิปดีไซน์ และ Semiconductor เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต 

3. สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการบนฐานทุนทางวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ยกระดับศักยภาพของชุมชน ฐานชุมชนเมือง สินค้า OTOP 

                               เปิดยุทธศาสตร์งบ 69 วงเงิน 3.74 ล้านล้านบาท อัดประชานิยมเต็มสูบ

ดันสถานบันเทิงครบวงจร

ส่งเสริมเมืองน่าเที่ยว และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) อาทิ สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) รวมถึงการนำคอนเสิร์ต เทศกาล การจัดประชุมนานาชาติ และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย

4. ส่งเสริมให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค (Logistics Hub) โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และ ทางอากาศ 

ค่าโดยสารราคาเดียว

ขับเคลื่อนโครงการ Landbridge ผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) กำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน 

สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมและการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) สนับสนุนให้ประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด 

5. ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์  ส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) 

แก้หนี้ SMEs

การแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs อาทิ การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund พัฒนาการออกแบบสินค้าและบริการที่มีอัตลักษณ์และตราสินค้าที่เด่นชัด สามารถเข้าถึงตลาดผู้ซื้อ สนับสนุนการสอดแทรกทุนทางวัฒนธรรมในการผลิตภาพยนตร์ไทยและสื่อทุกรูปแบบ ปกป้อง SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์ม ออนไลน์ 

6. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก 

สนับสนุนคนไทยใช้ AI

ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
1. ส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต 2. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ สนับสนุนให้คนไทยทุกกลุ่มทุกวัยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาตนเอง 

3. พัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต 4. เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการด้านสุขภาพจิตและการป้องกันยาเสพติด สานต่อโครงการฉีดวัคซีนปากมดลูก (HPV)

                         เปิดยุทธศาสตร์งบ 69 วงเงิน 3.74 ล้านล้านบาท อัดประชานิยมเต็มสูบ

กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

1. การกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ส่งเสริมความเท่าเทียมชายหญิงในครอบครัวและที่ทำงาน 

2.สนับสนุนองค์ความรู้พื้นฐานด้านการบริหารจัดการหนี้สินและการเงิน ส่งเสริมการออม เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนและการประกอบอาชีพ ยกระดับคุณภาพสินค้าโครงการ OTOP

3. ผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพ “30 บาท รักษาทุกที่” ส่งเสริมการเกิดและเติบโตของเด็ก อย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม 

แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง

ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

1. ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-friendly Economy) โดยอาศัยจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติ และที่ตั้งใกล้เส้นศูนย์สูตร ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศท้องถิ่น 

พร้อมเพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่และชุมชนท้องถิ่นในการจัดการสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย

2. แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งร่วมกับทุกภาคส่วน เร่งให้น้ำถึงไร่นาด้วยการเพิ่มศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำในพื้นที่เขตชลประทาน พัฒนาและบริหารจัดการแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน 

นำศก.ใต้ดินเข้าระบบภาษี

ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

1. ยกระดับการบริการภาครัฐให้มีขีดสมรรถนะสูง โดยเปลี่ยนผ่านไปสู่ราชการทันสมัย 

ปฏิรูประบบภาษี ไปสู่แบบ Negative Income Tax สร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี (Underground Economy) 

2. การยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และความโปร่งใส (Transparency) 

3. ลดกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น (Ease of Doing Business) เพื่อไม่ให้ภาครัฐเป็นอุปสรรคของภาคธุรกิจ หรือ ขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ