นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (7 ม.ค.68) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการขอทบทวนมติครม.และขอปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,473 ล้านบาท ลดลง 96 ล้านบาท จากเดิมตามมติครม.เมื่อวันที่ 26 ก.พ.62 วงเงิน 6,570 ล้านบาท
สำหรับการปรับกรอบวงเงินในครั้งนี้ เนื่องจากการประเมินราคาค่าเวนคืนที่ดินมีการปรับลดลงอยู่ที่ 209 ล้านบาท จากเดิมเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 แต่ปัจจุบันเป็นการประเมินราคาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนที่ดินและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562 ส่งผลให้ราคาประเมินค่าเวนคืนที่ดินลดลง
ส่วนค่างานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 2,004 ล้านบาท ลดลง 193 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 2,197 ล้านบาท เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทไทยและเงินเยนญี่ปุ่นมีอัตราส่วนที่ลดลง
ขณะที่ค่างานโยธาและระบบราง วงเงิน 4,060 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 186 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 3,874 ล้านบาท เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาค่าวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กเสริมคอนกรีต เหล็กรูปพรรณ เหล็กรางรถไฟและปูนซีเมนต์ ตลอดจนค่าขนส่งวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า หลังจากครม.มีมติอนุมัติโครงการดังกล่าว เบื้องต้น รฟท.ได้ปรับแผนการดำเนินโครงการให้เป็นปัจจุบันแล้ว ซึ่งการเปิดประมูลเดินรถของโครงการรถไฟสายสีแดงนั้นมองว่า รัฐจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด โดยจ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เป็นผู้เดินรถ เพื่อให้โครงการมีความต่อเนื่อง โดยการประมูลครั้งนี้เป็นสัญญาเดียว
ด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟชานเมืองส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 20.5 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 15,176 ล้านบาท นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเสนอต่อครม.พิจารณาได้ภายใน 1-2 เดือน
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หลังจากผ่านการอนุมัติจาก ครม.แล้ว มีแผนดำเนินการโดย รฟท.จะเร่งจัดทำเอกสารประกวดราคา (TOR) เพื่อประมูลจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธา ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือน ม.ค.นี้ และแล้วเสร็จเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนประมูลภายในไตรมาส 1 ปีนี้ และเริ่มก่อสร้างทันทีภายในปี 2568
ทั้งนี้ตามแผนจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.2570 ก่อนเปิดให้บริการในเดือน ม.ค.2571 ซึ่งโครงการนี้ประเมินว่าเมื่อเปิดให้บริการจะมีปริมาณผู้โดยสาร 36,050 เที่ยวคนต่อวัน โดยในปีที่ 30 ของการเปิดให้บริการคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดนสาร 67,340 เที่ยวคนต่อวัน