ตลาดชานมไข่มุกทั่วโลกถือเป็นหนึ่งในตลาดเครื่องดื่มที่มีขนาดใหญ่ โดยคาดว่าในปี 2568 จะมีมูลค่าตลาดรวมราว 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 3.43 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 9.3% ต่อปี ขณะที่ตลาดในประเทศไทยก็คึกคักไม่แพ้กัน ด้วยการเติบโตที่กลับมารุนแรงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 3,000-4,000 ล้านบาท และดันให้ไทยติดอันดับ 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเติบโตของตลาดชานมไข่มุกสูงสุด
นายเคนนี่ ซี แคน วง กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิกเซี่ยน ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ให้บริการธุรกิจแฟรนไชส์ แบรนด์ชานมไข่มุก “DAKASI” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดชานมไข่มุกในช่วงโควิดระบาดอาจชะลอตัวไปบ้าง ซึ่งหลังโควิดซาพบว่าผู้เล่นในตลาดลดน้อยลง ขณะที่แบรนด์ DAKASI ยังมีการเติบโตหลังจากที่ขายลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ให้กับบางจาก รีเทล นำไปขยายสาขาในสถานีบริการน้ำมันบางจาก ทำให้มีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นกว่า 200%
“ก่อนโควิดมีสัดส่วนดีลิเวอรีราว 30% และเทคโฮม 70% แต่เมื่อเกิดโควิดสัดส่วนขยับเป็น 50 : 50 เพราะฉะนั้นเราจึงมองว่าภาพรวมรูปแบบเปลี่ยนไป ขณะที่การขยายสาขาในปั๊มน้ำมันบางจาก ทำให้ได้รับการตอบรับดีจากแฟรนไชซี ที่สนใจขยายสาขามากขึ้น บริษัทจึงเริ่มขยายสาขาออกไปในจังหวัดที่มีศักยภาพ โดยปัจจุบันบริษัทมีสาขารวม 100 สาขา เป็นสาขาของบริษัทเอง 25 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ 75 สาขา”
อย่างไรก็ดี ในสิ้นปีนี้จะมีสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 150 สาขาทั่วประเทศ และมียอดขายราว 360 ล้านบาท โดยในช่วง 2-3 ปีหลังจากนี้บริษัทตั้งธงขยายจำนวนแฟรนไชส์เป็นหลักและเน้นเปิดต่างจังหวัดมากขึ้นโดยเริ่มจากหัวเมืองก่อนโดยเฉพาะภาคอีสานกับภาคตะวันออก หลังจากที่ทำการสำรวจพบว่า ลูกค้ามีกำลังซื้อ
นอกจากโควิดส่งผลให้พฤติกรรมการใช้บริการซื้อสินค้าเปลี่ยนไปแล้ว ยังพบว่า ผู้บริโภคใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น โดยจะเห็นว่า ผู้บริโภคหันมาเลือกสั่งสินค้าประเภทหวานน้อยมากขึ้น ทำให้บริษัทต้องหันมาพัฒนาในเรื่องของ innovation และ healthy โดยให้ลูกค้าสามารถเลือกระดับความหวานในเครื่องดื่มได้
ทั้งนี้บริษัทตั้งงบลงทุนในช่วง 2-3 ปีนี้ราว 50 ล้านบาทในการเปิดสาขาและทำการตลาด ซึ่งในเชิงของการตลาดหลังจากมีการ Rebranding ไปแล้วเมื่อปีก่อนในปีนี้ DAKASI จะเริ่มทำแคมเปญการตลาดออกมาต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ โดยในครึ่งปีหลังต่อเนื่องถึงปีหน้าจะเน้นการสร้างการเขาถึงผู้บริโภค (customer engagement) มากขึ้น ผ่านระบบ CRM เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าและสร้างลูกค้าใหม่ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีลูกค้าใหม่เข้ามามากขึ้น
สิ่งที่เราค่อนข้างกังวลคือ เรื่องของคุณภาพสินค้า และการบริการหน้าร้าน การสื่อสารทางการตลาดเราก็อยากได้ฟีดแบคจากลูกค้ามากขึ้นเพราะฉะนั้นจึงลงทุนเยอะในฝั่งของ CRM โดยการเอาดาต้ามาพยายามทำโปรโมชั่นที่ถูกใจลูกค้ามากขึ้นเพราะก่อนหน้านี้มีโปรโมชั่นที่สาดกระจายทุกคนจะได้โปรโมชั่นเหมือนกัน แต่ว่าในช่วงปีหน้าเราจะเริ่ม tailor-made Promotion แต่ละคนมากขึ้นเพื่อให้ลูกค้าได้ทานในสิ่งที่เขาอยากทานจริงๆ
นอกจากนี้สิ่งที่อาจเห็นในปีนี้คือ การแข่งทางด้านราคาในแบรนด์ชานมไข่มุกต่างๆที่อยู่ในแพลตฟอร์มค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการลดหรือโปรโมชั่นแจก แถม ซึ่งคาดว่าเมื่อเกิดขึ้นเราก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะว่ามันเป็นปกติของตลาด แต่ตอนนี้ยังยืนราคาเดิมและไม่มีการปรับราคาแต่อย่างใด
ด้านนางสาวปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท 21 ซันแพสชั่น จำกัด เจ้าของร้านชานมไข่มุก “BEARHOUSE” กล่าวว่า ตลาดเครื่องดื่มชานมไข่มุกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้แบร์เฮ้าส์ตั้งเป้าหมายที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 8 สาขาจากปัจจุบันที่มีอยู่ 12 สาขา โดยเป็นการลงทุนเองทั้งหมด ในทำเลรอบเมืองและปริมณฑล รวมทั้งมีแผนจะนำร่องทดลองเปิดสาขาในต่างจังหวัด ซึ่งใช้ขนาดพื้นที่สาขาละไม่ต่ำกว่า 50 ตารางเมตร ใช้งบลงทุนสาขาละ 2.5-4.5 ล้านบาท เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ยังพัฒนาเมนูใหม่เพื่อรองรับผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยคิดค้น วิจัย และพัฒนาโดยใช้วัตถุดิบหลักจากหล่อฮังก้วย และส่วนผสมอื่น ๆ ปรุงขึ้นใหม่จนได้รสชาติความอร่อยใกล้เคียงกับไซรัปปกติมากจนแยกไม่ออก ซึ่ง Sugar Free syrup เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ ซึ่งพบว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี
โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขายราว 180 ล้านบาท และมีแผนเดินหน้าขยายสาต่อเนื่อง รวมทั้งแผนในระยะยาว จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอีก 5 ปีข้างหน้าซึ่งจะมีรายได้รวมราว 500 ล้านบาท รวมทั้งขยายการลงทุนในต่างประเทศทั้งในเอเชียและยุโรปด้วย
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,808 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565