คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย หนึ่งในเป้าหมายของยุทธศาสตร์ new S Curve ของประเทศ ที่ภาครัฐให้การส่งเสริม คือ การสร้างศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)และ ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism Hub) ที่มีมูลค่าราว 500,000 ล้านบาท จากการวิจัยของธนาคารกรุงศรี
ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างไทยให้เป็น Medical Hub รวมถึงการสร้างระบบนิเวศให้ประเทศเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ตัวอย่างเช่น BOI ส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยทางคลินิกและศูนย์วิจัยทางคลินิกธุรกิจทั้งสองประเภท จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยไม่จำกัดจำนวน
"โรงพยาบาลและการรักษาพยาบาลของไทยถือว่าอยู่ในระดับที่นานาชาติยอมรับคุณภาพ และค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก จึงเป็นประโยชน์ต่อคนไข้อย่างมาก ทั้งนี้โรงพยาบาลจะต้องมีการลงทุนในเรื่องของดิจิทัลและให้บริการที่ดี ซึ่งทางรัฐบาลไทยได้เตรียมคนให้เข้ากับสภาพของการเปลี่ยนแปลงทั้งโรงเรียน และโรงพยาบาล
เพื่อให้คนที่จบการศึกษามีคุณภาพมากเพียงพอและสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมทุกอย่าง ซึ่งไม่ใช่แค่หมอแต่เราต้องการความรู้ความสามารถด้านอื่นๆ ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาลประเทศไทยยังได้รับคำชมใน3 ปีที่ผ่านมาในช่วงโควิดระบาดไทยสามารถที่จะจัดการได้ดีอันดับที่ 6 ของโลก"
ทางด้าน ศาสตราจารย์ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า จากการวิจัยของธนาคารกรุงศรี บริการทางการแพทย์ ประมาณ 65% เป็นบริการจากทางภาคเอกชน โรงพยาบาลเอกชนเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญและศักยภาพในการผลักดันดิจิทัลเฮลท์แคร์ ศูนย์กลางทางการแพทย์ และตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ สมาชิกของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้เตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลโดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานไอทีเพื่อ เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลในอาเซียน เพื่อให้บริการคนไข้ในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ดังนั้นการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันในโรงพยาบาล จึงมีความสำคัญ
"ประเทศไทยได้รับการชื่นชมในเรื่อง medical toism จำนวนมาก บางปีครองตำแหน่ง destination medical toism เป็นอันดับ 1 ของโลก ก่อนโควิดไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณ 40 ล้านคน ก่อนจะหายไปในช่วงโควิดแต่หลังจากมีการเปิดประเทศคาดว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามา9.5คน ในจำนวนนี้มี medical tourism ประมาณ 8-12%
ความเป็น Medical hub ของไทยเกิดขึ้นนานแล้ว และปัจุบันไทยถือว่าได้เปรียบทางการแข่งขันเพราะเปิดประเทศในเงื่อนไขที่น้อยมากและหลังจากนี้จะมีวีซ่าคนไข้ทำให้การเข้าคนป่วยเดินทางมารักษาสดวกขึ้น แต่โจทย์สำคัญคือแก้ไขในสิ่งที่เคยเป็นอุปสรรคนั่นคือจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงโควิดที่ผ่านมาว่าไทยยังขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างมาก
เพราะฉะนั้นจะต้องมีทั้งฝ่ายลงทุน ฝ่ายการผลิต ฝ่ายเตรียมคน ฝ่ายสเปเชียลริตี้ให้เพียงพอ ไม่เช่นนั้นสุดท้ายจะเกิดการซื้อตัวและแย่งชิงบุคลากรทางการแพทย์โดยใช้เงินในการล่อใจ สุดท้ายคนผู้ป่วยเป็นคนรับกรรมเพราะโรงพยาบาลจะผลักภาระไปสู่ผู้บริโภคทั้งหมด วันนี้ต่างชาติอาจจะจ่ายได้แต่คนไทยไม่สามารถที่จะจ่ายได้ "
อย่างไรก็ตามล่าสุดมีการจัด งาน Hospital Management Asia 2022 งานสัมมนาด้านระบบสาธารณสุข และการดูแลสุขภาพระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นงานประชุมผู้บริหารในกลุ่มอุตสาหกรรมโรงพยาบาลได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์ และข้อมูลเชิงลึกในการพัฒนาธุรกิจสู่ดิจิทัลเฮลท์แคร์
โดยพิงกี้ ฟาดูลเลียน ผู้อำนวยการจัดงาน Hospital Management Asia บริษัท Clarion Events Asia กล่าวว่า “การประชุมสัมมนา Hospital Management Asia ในปีนี้ กลับมาจัดที่ประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากห่างหายไป 3 ปีจากสถานการณ์โควิด ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ทุกภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ดิจิทัลเร็วขึ้น รวมถึงภาคอุตสาหกรรมสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งาน เช่น เอไอ บล็อกเชน Internet of Medical Things หรืออุปกรณ์การแพทย์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ โดยการจัดงานในครั้งนี้ เรามุ่งเน้นให้เกิดอีโคซิสเต็มส์ และคอมมูนิตี้เพื่อเชื่อมโยงบุคลากรในวงการอุตสาหกรรมทั่วทั้งภูมิภาค ด้วยการแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ระหว่างกัน เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพด้วยดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน”
ขณะที่ มิสเตอร์บียอร์น โบเดนสเทรน (Björn Bodenstein) กรรมการผู้จัดการ ซีเมนส์ เฮลทิเนียร์ส กล่าวว่า “ซีเมนส์ เฮลทิเนียร์ส ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้กับ บริการทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกับงานด้านเฮลท์แคร์ และลดต้นทุนในการดำเนินการ งานบริการทางการแพทย์เป็นงานที่ซับซ้อนและเป็นงานยาก เราได้นำเทคโนโลยีเอไอมาใช้เพื่อ ยกระดับงานบริการเฮลท์แคร์สู่ดิจิทัล
และทำให้โรงพยาบาลและภาคเฮลท์แคร์ ปรับรูปแบบบริการ สู่การบริการดูแลแบบดิลิเวอร์รี่ จ่ายยาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ป่วย ซีเมนส์ เฮลทิเนียร์สได้พัฒนาโซลูชันต่างๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอมากกว่า 63 รายการ ซึ่งช่วยให้เกิด การทำงานแบบอัตโนมัติ และสร้างมาตรฐานใหม่ ที่ไม่ใช่แค่เพียงเวิร์กโฟลว์ แต่สามารถวิเคราะห์โรค ที่ซับซ้อนได้ ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วย และสภาพแวดล้อมที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคถัดไป ของโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ”
นายแพทย์ ตัง ก้อง ชุง รองซีอีโอ โรงพยาบาลตันต็อกเส็ง และศูนย์กลางด้านการดูแลสุขภาพ ได้แบ่งปันประสบการณ์ด้านการจัดบริการสุขภาพแบบเน้นคุณค่า (Value Based Healthcare) ในโรงพยาบาลตันต็อกเส็ง กล่าวว่า “การจัดบริการสุขภาพแบบเน้นคุณค่า เป็นแนวโน้มในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ ที่เน้นผลลัพธ์ ในการรักษาคนไข้ และคนไข้จ่ายค่าบริการตามผลลัพธ์ที่ได้ โมเดลใหม่นี้ จำเป็นต้องพึ่งพา โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลที่แข็งแกร่ง เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ในการให้บริการคนไข้จากที่ไหนก็ได้”
นอกเหนือจากนี้แล้ว Clarion Events ร่วมมือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนมาเลเซีย ในการจัดงาน HMA 2023 ในกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ในเดือนกันยายนปีหน้า