SABINA ปรับแผนบริหารรับมือ ‘น้ำมัน-ค่าแรง-ดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ’

30 ก.ย. 2565 | 03:35 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2565 | 11:10 น.

SABINA คาดไตรมาส4 กระแสค้าปลีกยังโตแรง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงทั้ง ‘น้ำมัน-ค่าแรง-ดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ’ ทิศทางดีขึ้น เร่งบริหารอัตราแลกเปลี่ยนรับมือค่าเงินผันผวน ควบคุมต้นทุนนำเข้า-ส่งออก

SABINA ประเมินปัจจัยเสี่ยง ทั้งราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ อัตราเงินเฟ้อ แนวโน้มดอกเบี้ย รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำที่ขยับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด ขณะที่ปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ดันรายได้ OEM เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนบังต้องจับตามองเป็นพิเศษพร้อมปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การบริหารอัตราแลกเปลี่ยน ควบคุมต้นทุนการนำเข้า และส่งออกให้เกิดสมดุล 

นางสาวดวงดาว มหะนาวานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) หรือ SABINA

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 4และธุรกิจค้าปลีกคาดมีการฟื้นตัวหลังห้างสรรพสินค้าทยอยเปิดสาขาเพิ่ม กระตุ้นกำลังซื้อผ่านหน้าร้าน รับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปริมาณนักท่องเที่ยว พร้อมปั๊มรายได้ช่องทางออนไลน์โค้งสุดท้ายปลายปีผ่านเมกะแคมเปญวันคนโสด 11.11

 

นางสาวดวงดาว มหะนาวานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) หรือ SABINA ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชุดชั้นในแบรนด์ “ซาบีน่า” เปิดเผยว่า หลังจากติดตามปัจจัยท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในไตรมาสที่ 3 ทั้งการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น การปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จนถึงขณะนี้เชื่อว่า ปัจจัยท้าทายดังกล่าวมีแนวโน้มคลี่คลายเป็นลำดับ และไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อต้นทุนผลิต ต้นทุนขาย รวมถึงต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทฯ

 

โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งปรับขึ้นน้อยกว่าที่บริษัทฯ คาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกัน ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงกลางปี 2565 จำนวนพนักงานของบริษัทฯ ลดลงกว่า 1,200 คน ทำให้ต้นทุนค่าแรงต่อเดือนลดลง 13.12% เมื่อเทียบค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-7% ทำให้ SABINA ไม่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้แต่อย่างใด

 

ปัจจัยที่จับตาดูเป็นพิเศษในขณะนี้ คือ เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน โดยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี แตะระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกสำหรับ SABINA เพราะนับตั้งแต่โควิดคลี่คลายและเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว บริษัทฯ ได้รับออเดอร์ในช่องทางรับจ้างผลิต (OEM) จากลูกค้าในยุโรปและสหราชอาณาจักรเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้จากการอ่อนค่าของเงินบาทเพิ่มขึ้น 

 

ขณะเดียวกัน SABINA มีสินค้าที่ต้องนำเข้า ทั้งในรูปแบบของการจ้างผลิตจากโรงงานคู่ค้า รวมถึงการนำเข้าวัตถุดิบบางอย่าง ทำให้บริษัทฯ มีการปรับแผนกลยุทธ์ในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งในแง่มุมการนำเข้าและส่งออกให้เกิดความสมดุล และเกิดผลเชิงบวกกับบริษัทฯ มากที่สุด

 

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของปีนั้น SABINA ยังเชื่อว่า บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยจะกลับมาคึกคักตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจนและอาจจะดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยห้างสรรพสินค้าหลายแห่งทยอยเปิดสาขาเพิ่มขึ้นในช่วงสุดท้ายของปี ซึ่งมีผลทำให้กำลังซื้อผ่านช่องทางรีเทลของ SABINA ทั้งเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า รวมถึงซาบีน่า ช็อป ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย

 

ขณะที่ช่องทางออนไลน์ในช่วงปลายปี ยังมีเมกะแคมเปญวันคนโสด 11.11 ซึ่งเป็นมหกรรมการช็อปปิ้งออนไลน์ครั้งใหญ่ที่สุดของปีรออยู่ ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนยอดขายได้เป็นอย่างดี หลังจากที่ SABINA ทำยอดขายสูงสุดในกลุ่มสินค้าแฟชั่นทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแล้วในเมกะแคมเปญ 9.9

 

“ไตรมาสที่ 3 เรามียอดขายจากแคมเปญ 9.9 ตุนไว้แล้ว ทำให้ยอดขายปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้วเติบโตเพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมปีที่แล้ว ยังมีเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ห้างสรรพสินค้าบางแห่งต้องปิดการให้บริการ ส่วนปีนี้มีเรื่องของฤดูฝน ที่ฝนตกยาวนานและต่อเนื่องทำให้กิจกรรมบางอย่างต้องหยุดชะงักไปบ้าง ถือเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

แต่เราก็มีแผนสำรองด้วยการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นมาทดแทน ทำให้เรายังมั่นใจว่า เป้าหมายรายได้ในปีนี้จะเติบโตได้ 20% โดยช่องทางหลักๆ ทั้งช่องทางค้าปลีก (Retail) ช่องทางออนไลน์ (NSR) รวมถึงช่องทางรับผลิต (OEM) จะเติบโตเพิ่มขึ้นทุกช่องทาง”