หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติให้นำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้ว กลับไปทบทวนใหม่ รวมทั้งศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดของคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกร้องให้ทบทวนกฎหมายฉบับนี้ และนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ทำให้การประกาศใช้ พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด และกลายเป็นสุญญากาศในการเดินหน้าทั้งกัญชาทางการแพทย์และกัญชาเพื่อสันทนาการ และยังสร้างความสับสนให้กับผู้ประกอบการด้วย
นายอร่าม ลิ้มสกุล หรือลุงดำ ประธานวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การตีกลับกฏหมายกัญชา รวมถึงการนำเสนอให้กลับไปเป็นยาเสพติดเช่นเดิมนั้น จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างมาก เพราะปัจจุบันมีผู้เข้ามาลงทุนทำเพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจจำนวนมาก หลายราย หากให้ย้อนกลับไปเป็นยาเสพติดจะส่งผลและทำให้เกิดปัญหาแน่นอน ซึ่งวันนี้พบว่ากัญชา กัญชงเริ่มเป็นที่ยอมรับให้เป็นพืชเศรษฐกิจ มีนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพื่อท่องเที่ยวและลงทุนจำนวนมาก
“หากย้อนกลับไปเป็นยาเสพติดสิ่งที่ลงทุนไปเป็น 1,000 ล้านบาทก็จะสูญไปด้วย ผู้ประกอบการรายย่อย ชาวบ้านตาดำๆ ก็จะเสียโอกาส แทนที่จะได้ปลูก 15 ต้น เพื่อนำไปใช้เป็นยารักษาตัวเองก็จะเสียโอกาสไปด้วย วันนี้อยากให้มองถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดมากกว่าการขัดขา เป็นเกมการเมืองกัน”
ในแง่ของพ.ร.บ. กัญชาฯ อยากให้มีการกำกับดูแลเด็ก เยาวชน และสตรี ซึ่งก็มีอยู่แล้ว ส่วนผลกระทบจากกัญชา กัญชง ก็น้อยกว่าเหล้า บุหรี่ ซึ่งเมื่อถูกตีกลับ ก็จะเกิดสุญญากาศ ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าได้ทั้งกัญชาทางการแพทย์และกัญชาเพื่อสันทนาการ ซึ่งที่ผ่านมายังมีความไม่ชัดเจนอีกมาก ทั้งเรื่องของการจำหน่าย การแปรรูป รวมถึงการใช้งาน
“ควรมีการกำหนดโซนนิ่งที่ชัดเจน โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเพื่อใช้บริการกัญชาในเมืองไทย ขณะเดียวกันก็ควรมีข้อกำหนด ข้อห้ามเด็ก เยาวชน และสตรีที่ชัดเจนด้วย”
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา เครือข่ายกัญชาภาคประชาชน ได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กัญชา-กัญชง เพื่อขอให้เร่งรัดให้มีกฎหมายกัญชา-กัญชง โดยยืนยันสิทธิการใช้กัญชาภาคประชาชน ในมิติด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยั่งยืน โดยนำเสนอ 2 ข้อได้แก่
1. ควรจะต้องเร่งผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. กัญชา-กัญชง กม. ออกมาอย่างเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศ ในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชา กัญชง
2. ขอยืนยันเจตนารมณ์การใช้กัญชาเพื่อสุขภาพและเศรษฐกิจของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยประชาชนมีสิทธิในการปลูกและการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงได้
ด้านนายยิ่งยศ จารุบุษปายน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ( Chief Executive Officer ) บริษัท ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ในภาพรวมหากกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดคงมีผลกระทบกับผู้ประกอบการหลายส่วน ส่วนแรกคือการเตรียมตัวทำกัญชาสันทนาการ ซึ่งจะกระทบเป็นวงกว้างเพราะตอนนี้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่หลายคนเข้ามาปลูกช่อดอกกัญชาเพื่อสันทนาการค่อนข้างเยอะ นั่นแน่นอนว่ากระทบ
แต่ในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ทำกัญชาอยู่แล้ว จะมุ่งไปที่การพัฒนากัญชาเป็นยามากกว่าเพราะฉะนั้นในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่จะไม่ค่อยกระทบเท่าไร แต่ตอนนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงๆคือช่องว่างในการนำกัญชามาทำสันทนาการที่เปิดเสรีเกินไป
ซึ่งมองว่ายังไม่ค่อยถูกต้องควรจะมีกฎหมายควบคุม เพราะต่อให้เป็นประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาควบคุมก็ตามไม่เหมือน พ.ร.บ. ที่ออกมาเป็นกฎหมายเพราะพ.ร.บ.เป็นกฎหมายหลัก แต่กฎกระทรวงเป็นกฎหมายรองลงมาเพื่อบังคับใช้เท่านั้น ตอนนี้จึงเกิดเป็นช่องโหว่ของกฎหมายที่หลายๆ ภาคส่วน เช่น คณะแพทย์กว่าพันคนลงนามร่วมกันอยากให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดก่อนในช่วงนี้ จนกว่าจะมีกฎหมายที่ชัดเจนออกมา
ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่จะส่งออกต่างประเทศก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะปลายทางเช่นอเมริกามีการเปิดเสรี ซึ่งมีกฎหมายชัดเจนในการใช้สารTHC จากกัญชาเพื่อนำไปพัฒนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพทย์หรืออาหารเสริมซึ่งมีกฎหมายรองรับชัดเจน ในการส่งออกปลายทางจะมีโควต้าในการนำเข้า ดังนั้นการส่งออกก็จะไม่มีผลกระทบ และไม่น่าจะทำให้อุตสาหกรรมกัญชาเกิดการล่าช้าเพราะผู้ประกอบการรายใหญ่หลายๆบริษัทมีการเตรียมตัวและรองรับในเรื่องของการส่งออก
ส่วนในการใช้ในประเทศไทยทราบอยู่แล้วว่ากฎหมายอนุญาตให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้นเพราะฉะนั้นทุกๆฝ่ายเตรียมตัวอยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบการรายย่อยและขนาดกลางที่เข้ามาหลังจากที่มีการเปิดเสรีจะเน้นไปด้านสันทนาการมากกว่าซึ่งส่วนนี้แหละที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างที่จะแรง
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,823 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2565