หลังการปลดล็อกกัญชาเสรีมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ส่งผลให้กัญชา-กัญชง แปรสภาพจากพืชเสพติดสู่ “พืชเศรษฐกิจ” ที่มีอนาคตสดใส ทั้งนี้จากข้อมูลศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ณ เดือนเมษายน 2565 ระบุว่า อุตสาหกรรมกัญชา-กัญชง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ มีมูลค่ากว่า 2.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าหากมีการเติบโตเฉลี่ย 10-15% จะมีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 4.28 หมื่นล้านบาท แต่แนวโน้มจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ หลังปลดล็อก “กัญชาเสรี” 3 เดือนแรกผลลัพธ์เป็นเช่นไร และเกิดปัญหาอะไรบ้าง
นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TIHTA) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเปิดเสรีกัญชานับจากวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันพบว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะปริมาณช่อดอก แต่ขณะเดียวกันก็พบว่าช่อดอกกัญชงคุณภาพแบบ medical เกรดที่สามารถนำไปใช้ได้จริงมีสัดส่วนเพียง 60-70% เท่านั้น
คาดว่าจนถึงปลายปีจะมีผลผลิตออกมาจำนวนมากจากผู้ผลิตที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนไว้ ขณะเดียวกันยังพบว่า มีการลักลอบนำกัญชง กัญชาจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ปลูก ดังนั้นรัฐต้องปกป้องด้วยการจัดตั้งหน่วยป้องกันปราบปราม พร้อมออกกฎหมายให้ชัดเจน
อย่างไรก็ดี ปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงาน “Asia International HEMP and Cannabis Expo 2022” คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานนับ 1 หมื่นคน และมีต่างชาติที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเดินทางเข้ากว่า 1,000 คน และมีบริษัทต่างชาติและคนไทยมาร่วมออกงาน 300-500 ราย
งานนี้มีความสำคัญและนัยยะความสำคัญและการเติบโตของอุตสาหกรรม จึงอยากให้ทุกคนมาช่วยกันสร้างอุตสาหกรรมในแนวสร้างสรรค์เพื่อทำให้อุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างยั่งยืน อย่าทำอะไรกันแบบชอตเทอม รัฐบาลไม่ได้บอกให้ออกมาสูบแต่ให้ออกมาสร้างอุตสาหกรรมและเปิดเสรีทางการแพทย์และให้ทุกคนช่วยกันสร้างทัศนคติที่ดีและสร้างสรรค์ต่ออุตสาหกรรมซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบ
ด้านนายพงษ์สกร ดำเนิน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานธุรกิจพลังงานและกัญชงกัญชา บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL กล่าวว่า หลังเปิดเสรีกัญชา พบว่า มีประชาชนสนใจลงทะเบียนจำนวนมาก แต่กลับไม่ได้ผลผลผลิตมากตามที่คาดหวัง เพราะตายหรือผลผลิตไม่งาม เมื่อปลูกไป 1-2 รอบเริ่มเบื่อและเลิกปลูกไป
ทำให้ผลผลิตจากภาคครัวเรือนไม่ได้มากเท่ากับจำนวนที่แจ้งจด และผลผลิตส่วนนี้จะไม่ถูกนำออกมาใช้งาน แต่ยังเชื่อว่าในช่วงปลายปีจะเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกมามากและมีแนวโน้มที่จะล้นตลาด แต่ของที่ล้นตลาดเป็นของที่ไม่ได้คุณภาพไม่มีใครนำไปใช้ประโยชน์ ไม่มีคนซื้อ โรงสกัดก็จะไม่รับสกัดเพราะว่ากังวลว่าเครื่องจะปนเปื้อน เพราะฉะนั้นถ้าปลูกช่อดอกที่มีคุณภาพได้ก็ไม่มีความกังวลเพราะยังมีดีมานด์ และในอนาคตสามารถส่งออกช่อดอกคุณภาพสูงไปขายต่างประเทศได้
“นอกจากขายช่อดอกเข้าตลาดการแพทย์แล้ว ยังมีการนำมาสกัดเป็นน้ำมัน full spectrum สำหรับใช้ใส่ในเครื่องสำอาง หรืออาหาร ซึ่งเป็นตลาดที่ยังมีดีมานด์ ซึ่งหากวิเคราะห์ดีมานด์ หลายๆฟาร์มตอนนี้ถ้าปลูกไม่ตรงกับคุณภาพที่ลูกค้าจะนำไปใช้หรือคุณภาพไม่ได้ ก็จะเริ่มปลูกลดลงและออกจากตลาดไปเพราะหาที่จำหน่ายลำบาก และอีกสักระยะเมื่อภาคการท่องเที่ยวเดินได้กัญชา กัญชง กลุ่มสันทนาการก็จะใช้มากขึ้น ดังนั้นการปลูกที่มีคุณภาพดีมานด์ยังสูง แต่ถ้าคุณภาพต่ำดีมานด์ก็ยังน้อยและไม่เป็นที่ต้องการ”
ขณะที่นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ผู้บริหารฟาร์มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนา และ ผู้ก่อตั้งร้าน RG420 cannabis store ข้าวสาร กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า หลังการปลดล็อคกัญชากัญชา กัญชง จะเห็นถึงการต่อต้านจากสังคม แต่หลังจากนั้นสังคมมีการเรียนรู้มากขึ้นจากการให้ข่าวและประชาสัมพันธ์ร่วมกันทำให้เกิดการยอมรับมากขึ้นในสังคม
แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องมีการควบคุมการใช้หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ในการควบคุมการขายยังจำเป็นมากๆเพราะยังมีกลุ่มเปราะบางที่ต้องคอยช่วยกันดูแลไม่ให้การเข้าถึงกัญชาเช่นเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งก็คงต้องรอดูกฎหมายต่อไป
ส่วนเรื่องของราคาซึ่งขณะนี้เข้าใจว่ามีการแอบลักลอบนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทยซึ่งราคาถูกกว่ามาก ทำให้เกษตรกรรายย่อยประสบปัญหาไม่สามารถขายได้ เพราะมีทางเลือกจากประเทศที่มีการเปิดเสรีมานานทำให้มีความรู้ โนวฮาวด์และวอลลุ่มที่ทำได้มากกว่านี่คือความได้เปรียบของคนที่เปิดตลาดก่อน ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าเกษตรกรไทยพึ่งจะได้มีความรู้จากการปลูกกัญชาประมาณ 1 ปี ซึ่งเราจะคาดหวังว่ากัญชาในคอปแรกนั้นจะมีคุณภาพเทียบเท่ากับต่างประเทศนั้นเป็นไปได้ยากมาก
ดังนั้นจำเป็นอย่างมากที่จะเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เรียนรู้ได้พัฒนา ไม่ใช่เปิดช่องให้พ่อค้าที่เห็นแก่ตัวอยากได้กำไรมากๆแล้วไปนำเข้าของถูกมาถล่มตลาดเมืองไทยสุดท้ายกัญชาไทยก็จะไม่มีทางเดิน จริงๆกฎหมายต้องห้ามนำเข้าอยู่แล้ว การลักลอบนำเข้าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและเป็นเรื่องที่ทำร้ายเกษตรกรโดยตรงและควรที่จะสงวนไว้ให้กับเกษตรกรในประเทศตัวเองเท่านั้น แม้แต่ประเทศที่เปิดเสรีก่อนยังไม่อนุญาตให้นำเข้าจากต่างประเทศเพราะต้องการปกป้องอุตสาหกรรมนี้ให้กับเกษตรกรของเขาซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้
ในส่วนของผลผลิตหลังจากปลดล็อคเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาทำให้มีการลงทุนมากขึ้นแต่ผลผลิตจะออกมาจริงๆจังๆช่วงปลายปีนี้อย่างล้นหลาม สิ่งที่ภาครัฐจะต้องตระหนักและช่วยกันคือถ้าผลผลิตออกมาเยอะๆ ในอนาคตจะออกไปขายที่ไหนและจะหารายได้ได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาเรื่องของล้นตลาดแน่นอนซึ่งอาจจะส่งผลต่อราคาขายในอนาคต ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับคนกลาง เพราะไทยเป็นประเทศทุนนิยมเสรีไม่มีการกำหนดราคากลาง
อีกประเด็นคือยังไม่มีระบบการซื้อขายที่ชัดเจนสิ่งที่ภาครัฐควรจะต้องทำคือจะต้องเป็นคนกลางในการระบุให้ได้ว่ามีการซื้อจากที่ไหนและขายไปที่ไหน เพื่อปกป้องสุขภาพของผู้เสพ ผู้ใช้ และเพื่อความยุติธรรมของผู้ปลูกที่ขออนุญาตมาแล้ว ผู้ปลูกที่ขออนุญาตมาแล้วควรจะได้ผลประโยชน์ก่อนคนที่ยังไม่ได้ขออนุญาตไม่ใช่คนที่แอบปลูกมาก่อนหรือกลุ่มใต้ดิน ไม่อย่างนั้นคนที่ลงทุนไปก่อนและคนที่พยายามทำถูกต้องทุกอย่างจะคืนทุนได้อย่างไร
“ในส่วนของเรา ราคารับซื้อที่เราใช้คือเกรดที่ขายได้ และเกรดที่นักท่องเที่ยวให้การยอมรับซึ่งต้องเป็นกัญชาเกรดA อยู่ที่ประมาณ 1.5- 2แสนบาทต่อกิโลกรัมช่อดอก บางที่ขึ้นไปถึง 3.5 แสนบาทต่อกิโลกรัมด้วยซ้ำถ้าเป็นเกรดท็อปที่มีการตรวจ COA ชัดเจนมีผลการวิเคราะห์สารตกค้างชัดเจน เราให้ราคาสูงมาก เราพอใจในราคาเท่านี้เราก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องลงไปกดราคาชาวบ้าน เราไม่เคยประกาศลดราคาเรามีแต่ขึ้นเพื่อที่จะเซ็ทเรทราคาให้สูงเข้าไว้ แต่อย่างไรก็ตามต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพไม่ใช่หมายความว่าราคานี้จะได้ทุกเกรด”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,819 วันที่ 18 - 21 กันยายน พ.ศ. 2565