“เชสเตอร์” หรือชื่อเดิม “เชสเตอร์กริลล์” ฟาสต์ฟู้ดสัญชาติไทย ในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่เดินหน้ายืนหยัดในธุรกิจอาหารบริการด่วน หรือ QSR ในเซ็กเม้นท์ “ไก่ทอด” ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด จากแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น KFC, TEXAS Chicken, Bonchon Chicken และน้องใหม่อย่าง “ชิค อะ บูม” จนวันนี้ครบรอบ 34 ปี ย่อมไม่ธรรมดา ซึ่งกว่าจะฝ่าวิกฤตนานัปการ โดยเฉพาะโควิด-19 ซึ่งจุดประกายให้องค์กรมีการเปลี่ยนแปลงและก้าวเดินหน้าอย่างแข็งแรง
คีย์ซัคเซส “QSR สายพันธุ์ไทย”
นางสาวลลนา บุญงามศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด ธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในเครือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ผู้บริหารแบรนด์ เชสเตอร์ (Chester’s), ตะหลิว และ Chick Cargo เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เชสเตอร์ถือเป็นแบรนด์ QSR สายพันธุ์ไทยรายเดียวที่ยืนหยัดอยู่ในธุรกิจมายาวนาน 34 ปี จากสาขาแรกที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้ามาบุญครอง (ชื่อในสมัยนั้น) ด้วยจุดเด่นที่มีรสชาติถูกปากคนไทย มีเอกลักษณ์ และแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดฟาสต์ฟู้ด ทำให้เป็นที่นิยม จนปัจจุบันมีสาขารวมกว่า 200 สาขา ทั่วประเทศ
โดยจุดแข็งของเชสเตอร์ คือ การพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง สามารถตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการความแปลกใหม่ในทุกเทรนด์ ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์เกาหลี ก็มีเมนูไก่อันยองวิงส์ , สโนว์ออเนียน เป็นต้น โดยบริษัทจะพัฒนาเมนูใหม่ในทุกๆ 1-2 เดือนออกวางจำหน่าย และในโอกาสครบรอบ 34 ปีนี้บริษัทร่วมกับ Iberry เปิดตัวเมนู “ไอศกรีมรสซอสน้ำปลาฮอตชิลลี่” เมนูลิมิเต็ด อิดิชั่น เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้า Young Gen รวมทั้งปรับภาพลักษณ์ของร้านให้ทันสมัย มีสีสันสดใสด้วย
ฝ่ามรสุมโควิด
“โควิด-19 สอนเราหลายเรื่อง สอนให้ทุกคนต้องรู้จักการปรับเปลี่ยนให้เร็ว รู้จักการบริหารความเสี่ยง ยืดหยุ่นให้มาก และต้องปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ให้ได้”
สิ่งต่างๆเหล่านี้ ผนวกทีมงานที่แข็งแรง ทำให้ “เชสเตอร์” สามารถฝ่ามรสุมโควิดมาได้ โดยมียอดขายทรงตัว ขณะที่คู่แข่งรอบด้านติดลบมากน้อยต่างกันไป
“ปี 64 เป็น “ปีแห่งการเอาตัวรอด” ซึ่งเรารอดมาได้เพราะมีทีมงานที่เข้มแข็งมากๆ ทำให้ยอดขายเราไม่ลดลงเลย ขณะที่ปี 65 เป็น “ปีแห่งการเติบโต” เพราะเมื่อเรายืนได้ เรามีบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งดีลิเวอรี, มีผลิตภัณฑ์บรรจุขวด อย่างซอสเทอริยากิ ซอสน้ำปลาฮอตชิลลี่ วางขาย ให้ลูกค้าซื้อกลับไปทำอาหารที่บ้าน ซึ่งจนถึงวันนี้ เรามียอดขายเติบโตแล้ว 30% และในอนาคตมีแผนจะเปิดโมเดลใหม่ Grab & Go ด้วย”
หากถามว่า แล้วปี 2566 “เชสเตอร์” วางหมากอย่างไร “ลลนา” บอกว่า ปี 66 ถือเป็น “ปีแห่งการก้าวกระโดด” ซึ่งจะเห็นโฉมใหม่ เห็นการเปลี่ยนแปลง และการเติบโตที่ชัดเจนขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักต่อเนื่องตลอด 3 ปีนับจากนี้
“ช่วงโควิดแน่นอนว่าดีลิเวอรีดี ยอดขายพุ่ง แต่วันนี้เมื่อผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทำให้ลูกค้าเริ่มกลับเข้ามาใช้บริการในร้าน ยอดขายในร้านจึงฟื้นตัวกลับมาเป็น 50:50 แต่ในอนาคตด้วยพฤติกรรมผู้บริโภค การรับประทานในร้านจะเพิ่มขึ้น”
เดินหน้าขยายสาขาเพิ่ม
ปัจจุบันร้านเชสเตอร์มีสาขากว่า 200 แห่งทั้งในโมเดลร้านขนาดใหญ่ , คีออส , Grab & Go และยังอยู่ระหว่างการศึกษาโมเดลอื่นเช่น Food Truck เป็นต้น โดยในปีหน้าจะขยายสาขาเพิ่ม 20 แห่ง นอกจากนี้ยังมีร้านตะหลิว ร้านอาหารสตรีทฟู้ด ซึ่งมีทั้งร้านขนาดเล็กที่เปิดในฟู้ดคอร์ท, ร้านอาหารในห้าง และ Cloud Kitchen ซึ่งปัจจุบันมีสาขารวมกว่า 50 แห่ง และในปีหน้ามีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 5-10 แห่ง
ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ทดลองเปิดให้บริการร้าน Chick Cargo ร้านไก่ทอดสไตล์เกาหลี 2 สาขาที่ไบเทค และบิ๊กซี สุขสวัสดิ์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้ในปีหน้า บริษัทมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 5 แห่ง นอกจากนี้ยังทดลองเปิดให้บริการร้าน Chester’s Fast Cafe ร้านอาหารฟิวชั่นสไตล์ไทยญี่ปุ่น ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าวด้วย
“เรามองเห็นโอกาสในการขยายได้อีกมาก ทั้งการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีก และอสังหาฯอื่นๆ ดังนั้นเราพร้อมที่จะขยายสาขาในศูนย์การค้า สถานีบริการน้ำมัน รวมถึงจุดสัญจร เช่น MRT BTS เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น”
นางสาวลลนา กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าธุรกิจ QSR แข่งขันกันหนักมาก ถือเป็นความท้าทายผู้ประกอบการ อีกทั้งยังมีปัจจัยภายนอกมากมาย ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ ต้นทุนราคาสินค้า ซึ่งเชสเตอร์เองก็ต้องเผชิญไม่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ด้วยนโยบายของบริษัท ที่ต้องยึดคุณภาพ ควบคู่กับความคุ้มค่า ทำให้บริษัทต้องปรับตัวอย่างหนัก แต่ที่สุดก็สามารถยืนหยัดและเติบโตต่อเนื่องได้
“เป้าหมาย 3 ปีนับจากนี้เชสเตอร์จะเดินหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งเรื่องของบริการ การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า รวมไปถึงการพัฒนาทุกรูปแบบเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,825 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2565