ปฎิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันระบบการดูแลสุขภาพในประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำและมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพในโรงพยาบาลได้ ขณะที่โรงพยาบาลรัฐเองมีความแออัดและไม่เพียงพอในการรองรับการใช้บริการของผู้ป่วยได้
ระบบการรักษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) จึงเป็นที่พูดถึงและคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาความแออัดของโรงพยาบาลและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงระบบการรักษาได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น โดยในระยะที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ผลักดันนโยบายการเชื่อมต่อการรักษาโดยใช้การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ให้เป็นรูปธรรมเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน และส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ขณะที่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าส่งผลให้ระบบสื่อสารในปัจจุบันมีความสะดวก รวดเร็ว สปสช. จึงได้จัดบริการสาธารณสุขระบบทางไกลกรณีผู้ป่วยนอก(Telehealth/Telemedicine) ในผู้ป่วยรายเก่าในหน่วยบริการที่มีอาการคงที่และควบคุมโรคได้ดี
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดระยะเวลาการรอคอยบริการ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) โดยได้บรรจุ “บริการแพทย์ทางไกล” เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาทเพื่อดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมลดความแออัดผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาล
ขณะที่ฝั่งของโรงพยาบาลหลายๆโรงพยาบาลมีความพยายามใช้ Telehealth/Telemedicine เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยด้วยเช่นกัน อาทิเช่น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ร่วมกับโครงการ “Telehealth Together” คลินิกออนไลน์เพื่อสุขภาพดี โดย บริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) และเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) เปิด “ห้องตรวจ Telehealth Together” เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ สามารถรับการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง สะดวก รวดเร็ว และง่าย ผ่านระบบออนไลน์ ลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชน
แพทย์หญิงณิชาภา สวัสดิกานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ในการเป็นศูนย์การแพทย์ชั้นนำของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขานรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสุขภาพรองรับการใช้วิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) จึงได้ร่วมกับ โครงการ “Telehealth Together” คลินิกออนไลน์เพื่อสุขภาพดี โดยเครือข่าย EACC GSK และทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เปิดห้องตรวจ Telehealth Together ณ ชั้น 12 อาคารศูนย์การแพทย์พระนั่งเกล้า เพื่อให้การรักษาแก่ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ครอบคลุม 3 โรค คือ โรคหืดโรคปอดอุดกั้น และโรคภูมิแพ้ทางจมูก ซึ่งมีความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจมีอาการรุนแรงขึ้น สามารถรับการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง สะดวก รวดเร็ว ทันท่วงที โดยทีมแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญให้บริการเสมือนมารักษาที่โรงพยาบาล โดยไม่ต้องเดินทาง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และความเสี่ยงในการต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการสาธารณสุข ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงการรักษาให้คนไทยทั่วประเทศ และขณะเดียวกัน ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เพื่อให้เข้าถึงการรักษาได้ สะดวก รวดเร็ว ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ ตอบโจทย์การรักษาผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ลดค่าใช้จ่ายโดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพของทีมแพทย์และพยาบาลในการดูแลคนไข้ สามารถให้คำปรึกษาตามเวลานัดหมาย ดูประวัติการรักษาและติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยให้ ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น