เบื้องลึก "โมชิ โมชิ" จากกิ๊ฟช็อปเล็กๆสู่ค้าปลีกไลฟ์สไตล์เบอร์1

15 พ.ย. 2565 | 07:33 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2565 | 16:38 น.

เจาะเบื้องลึกความสำเร็จ “โมชิ โมชิ” ชื่อญี่ปุ่นแต่สัญชาติไทย จากร้านกิ๊ฟช็อปย่านฝั่งธน สู่ค้าปลีกไลฟ์สไตล์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งสูงถึง 37.6% ภายใน6ปี พร้อมก้าวสู่ New Chapter กับการเป็นสมาชิกใหม่ในตลาดหลักทรัพย์

“โมชิ โมชิ”เป็นชื่อแบรนด์ที่คุ้นหูคุ้นตากันดีในฐานะร้านค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์เบอร์ต้นๆของไทย แม้ชื่อแบรนด์จะมีความเป็นญี่ปุ่นแต่เบื้องหลัง “โมชิ โมชิ” ถูกพัฒนาขึ้นโดยคนไทย100% จากจุดเริ่มต้นร้านกิ๊ฟช็อปเล็กๆใช้เวลาไม่ถึง  6 ปีสามารถขยายสาขาได้ถึง 100 สาขาใน 41 จังหวัดกินมาเก็ตแชร์อันดับ 1 สูงถึง 37.6%ต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน

เบื้องลึก "โมชิ โมชิ" จากกิ๊ฟช็อปเล็กๆสู่ค้าปลีกไลฟ์สไตล์เบอร์1

และวันนี้โมชิโมชิกำลังจะก้าวเข้าสู่การเติบโตใน Chapter ใหม่ ในการยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใต้การนำของ นายสง่า บุญสงเคราะห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ MOSHI ซึ่ง "สง่า" ฉายภาพความสำเร็จของ MOSHI ว่าเส้นทางของ MOSHI เริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆเมื่อปี 2516 จากร้านค้าปลีกย่านฝั่งธนจำหน่ายกิ๊ฟช็อป เครื่องเขียนและเบ็ดเตล็ดทั่วไป

 

 

จากนั้นครอบครัวเห็นโอกาสทางธุรกิจจึงพัฒนาขึ้นมาเป็นร้านค้าส่งกิ๊ฟช็อป ก่อนจะขยายเป็นโรงงานผลิตสินค้ากิ๊ฟช็อป เสื้อผ้าและค้าส่งในสำเพ็ง นอกจากขายสินค้าในประเทศแล้วยังส่งออกสินค้าไปต่างประเทศทั้ง อเมริกา ยุโรปแต่สินค้า และเอเชียซึ่งกิ๊ฟช็อปขายดีมากทั้งในญี่ปุ่น เกาหลีและไต้หวัน

นายสง่า บุญสงเคราะห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ MOSHI

กระทั่งปี 2557 สินค้าไลฟ์สไตล์เป็นที่นิยมอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงเริ่มเข้ามาศึกษาธุรกิจนี้อย่างจริงจังและเห็นโอกาสและช่องทางที่ร้านสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ จึงเปิดร้าน “โมชิ โมชิ” สาขาแรกที่สำเพ็งในปี 2559 ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี จนสามารถขยายสาขาอย่างรวดเร็วถึง 91 สาขาในปี 2563 และครบ 100 สาขาในปี 2565 พร้อมกับแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนภายใต้ บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ MOSHI

 

“เราอยากให้สินค้าของเราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของลูกค้า โดยชูจุดเด่นเรื่องของคุณภาพราคาและดีไซน์ที่ทันสมัย โดยวางกลุ่มเป้าหมายอายุ 18-25 ปี”

 

นอกจากนี้ผู้บริหารยังเปิดเผยเบื้องหลังความสำเร็จของ MOSHI ว่ามาจากจุดเด่นในการลงทุน 6 ข้อคือ  1 โมชิเป็นผู้นำค้าปลีกไลฟ์สไตล์อันดับ 1  ปัจจุบันมี market share อันดับ 1 ตั้งแต่ ปี 2562 และในปี 2564 มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งสูงถึง 37.6% และยังมีสาขาครอบคลุมจำนวนจังหวัดมากที่สุดในประเทศไทย กว่า 100 สาขา ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ใน 41 จังหวัด

“สินค้าส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อจำหน่ายในร้านโดยเฉพาะมากกว่า 18,000 รายการ แบ่งเป็น 12 กลุ่มเช่นเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องเขียน ตุ๊กตา ของใช้แฟชั่น อุปกรณ์เสริมความงาม เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง อุปกรณ์ไอที ของเล่น อาหารและเครื่องดื่มและอื่นๆที่เป็นสินค้าที่เป็นที่นิยมหรือเป็นที่ต้องการในท้องตลาดในแต่ละช่วง 

นอกจากนี้ยังมีสินค้า Collection พิเศษทั้งที่ทีมงานออกแบบเองและไลเซ่นส์เช่นมิกกี้เม้าส์ ,ดิสนีย์ ซูมซูม ,วีแบร์แบร์ ,วินนี่เดอะพูห์ ,สนูปปี้และฮัลโหลคิตตี้ และคาแรคเตอร์ใหม่ๆที่เพิ่มเข้ามาระหว่างปีซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้คนกลับมาใช้จ่ายในร้าน และเรายังวางแผนที่จะวางจำหน่ายสินค้าใหม่มากกว่า 8000 sku และสินค้าคอลเลคชั่นใหม่ๆทุกเดือน นอกจากร้านโมชิโมชิแล้วบริษัทยังมีร้านค้าปลีกและค้าส่งภายใต้ชื่อทางการค้าว่าไจแอนท์ จำหน่ายสินค้าทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวันในราคาเบาๆ ” 

เบื้องลึก "โมชิ โมชิ" จากกิ๊ฟช็อปเล็กๆสู่ค้าปลีกไลฟ์สไตล์เบอร์1
 

2 เห็นโอกาสการเติบโตในอุตสาหกรรมร้านค้าปลีกไลฟ์สไตล์อย่างโดดเด่น  “ธุรกิจสินค้า lifestyle ในบ้านเรามีมูลค่าตลาดรวม 3,000-5,000 ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปี2559ถึงปี 2564 มูลค่าภาพรวมค้าปลีกในบ้านเราเติบโตเฉลี่ย 1.4% ขณะที่สินค้าไลฟ์สไตล์เติบโตเฉลี่ย 11.4% แล้วคาดว่าจะเติบโตถึง 20.4% ต่อปี  ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกภาพรวมจะเติบโต 7.5% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ดังนั้น  โอกาสของสินค้าไลฟ์สไตล์ยังสามารถเติบโตได้อีกเยอะเพราะสินค้าไลฟ์สไตล์กินสัดส่วนเพียง 0.2% เท่านั้นของตลาดรวมเท่านั้น

นอกจากนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคยังเปลี่ยนจากในอดีตที่เน้นฟังก์ชั่นการใช้งาน แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าวัยรุ่นบ้านเรามีการเสพสื่อทำเห็นให้เห็นเทรนด์ต่างๆจากเมืองนอกและเริ่มซื้อสินค้าจาก design มากขึ้นทำให้ร้านของเราได้รับการตอบรับมากขึ้น”

 

3 เราได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของสถานการณ์โควิด 19 

“จากการฟื้นตัวของโควิด-19 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกโดยรวมรวมถึงร้าน "โมชิโมชิ" ซึ่งเห็นการเติบโตตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นมาและต่อไปก็จะเริ่มดีขึ้นต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด ตอนนี้ภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ ทำให้ยอดการขาย 6 เดือนแรกปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564 เราเติบโตสูงถึง 29% ส่วนร้านเดิมของเรามีอัตราเติบโตสูงถึง 21% 


 

4 โมชิมีการบริหารต้นทุนสินค้าที่มีประสิทธิภาพทำให้มีอัตรากำไรสูง  “เรามีการวางแผนสั่งซื้อล่วงหน้าเป็นปี และสั่งซื้อในจำนวนที่เพียงพอต่อการขายทำให้ไม่มีสินค้าคงเหลือที่มากเกินไป และมีอำนาจต่อรองต่อ supplier นอกจากนี้เรายังมีการออกแบบสินค้าที่ทันสมัยแต่ลดต้นทุนได้ โดยสินค้าใหม่เราจะออกตลาดจำนวนหนึ่งเพื่อทดลองตลาดเพื่อที่จะดู feedback และนำมา develop ใน collection ถัดไป  ส่วนการบริหารคลังสินค้าเรามีศูนย์กระจายสินค้าเป็นของตัวเองซึ่งรองรับการขยายสาขาได้ ถึง 240 สาขา และมีช่องทางจำหน่าย 3 ช่องทางคือ 1เครือข่ายสาขาของบริษัท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทยและมีเครือข่ายผู้ค้าช่วงอีก 1 หมื่นราย ที่ซื้อสินค้าไปขายต่อในพื้นที่ที่บริษัทยังไม่ครอบคลุม  2 การขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เช่น shopee Lazada และ3 Pop Up Store ที่จัดขึ้นชั่วคราวณพื้นที่ส่วนกลางของห้างสรรพสินค้าที่บริษัทยังไม่มีสาขา”

 

5 ศักยภาพในการทำกำไรเมื่อเทียบกับคู่แข่ง  “หลักๆเราจะโฟกัสอัตรากำไรข้างต้นและอัตรากำไรสุทธิ ที่ผ่านมาแม้จะอยู่ในช่วงโควิด แต่ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปี 2564 เราสามารถทำกำไรขั้นต้นได้ 51-53 % เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม21% ในขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่7-10% สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่อยู่ 5%

 

6 ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของทีมบริหาร  “เรามีทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ยาวนานและเชี่ยวชาญการพัฒนาสินค้า รวมถึงการบริหารจัดการค้าปลีกและค้าส่ง ที่สำคัญผู้บริหารมีความสัมพันธ์กับคู่ค้าและ supplier ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และความที่ผู้บริหารเป็นคนไทยทำให้เข้าใจสินค้าและรู้ว่าคนไทยชอบสินค้าแบบไหน กลุ่มราคาประมาณเท่าไหร่ เราถึงสามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงใจกับผู้บริโภคในไทย”

เบื้องลึก "โมชิ โมชิ" จากกิ๊ฟช็อปเล็กๆสู่ค้าปลีกไลฟ์สไตล์เบอร์1
 

อย่างไรก็ตามแม้ที่ผ่านมา ‘MOSHI’ จะมีผลงานที่โดดเด่น แต่ผู้บริหารยังคงวางกลยุทธ์ในการเติบโตในอนาคตอย่างรัดกุม เพื่อเอาชนะคู่แข่งซึ่งส่วนใหญ่เป็น chain store จากต่างประเทศ  โดยกลยุทธ์ในการเติบโต 5 ข้อประกอบไปด้วย

 

1ขยายสาขาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงทั้งในกรุงเทพฯปริมณฑลและต่างจังหวัด รวมถึงหัวเมืองใหญ่ที่ ‘MOSHI’ยังไม่มีสาขา “เรามองว่าเรายังมีโอกาสในการขยายสาขาอีกมาก เพราะปัจจุบันเรามีสาขาคิดเป็นสัดส่วนเพียง 18.5% ของจำนวนห้างสรรพสินค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด ซึ่งเรามีเป้าหมายที่จะขยายสาขารวมกันมากกว่า 165 สาขาภายในปี 2568”

 

2 เพิ่มการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม โดยจะพัฒนาสินค้าใหม่ๆปีละมากกว่า 8,000 sku รวมถึงออกสินค้าในลักษณะของ collection สินค้าตามซีซั่นนอลและสินค้าลิขสิทธิ์การ์ตูนที่เป็นที่นิยมเพิ่มเติม จัดทำชุดเซ็ทสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าการซื้อ รวมถึงการทำ virtual merchandise เพื่อ display สินค้าและใช้กลยุทธ์Co-Brandingกับอินฟูลเลนเซอร์เพื่อจัดกิจกรรมการขายอย่างต่อเนื่อง

เบื้องลึก "โมชิ โมชิ" จากกิ๊ฟช็อปเล็กๆสู่ค้าปลีกไลฟ์สไตล์เบอร์1

3 เพิ่มขีดความสามารถในการเติบโตของกำไร โดยเน้นขยายร้านค้าปลีกที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่าร้านค้าปลีกแบบมีส่วนลด ,ปรับสัดส่วนสินค้า product mix เน้นสินค้าที่มีกำไรสูงเช่นกลุ่มบิวตี้และกลุ่ม accessories ต่างๆ ,ออกแบบลวดลายสินค้าทันสมัย ,ลดขั้นตอนการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มยอดขายรวมทั้งออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า ซึ่งการเติบโตของสาขาที่ต่อเนื่องจะช่วยสร้างข้อได้เปรียบในเรื่องของอำนาจต่อรองและการเจรจาสั่งซื้อสินค้า

 

4 ลงทุนพัฒนาระบบไอที เพื่ออัพเกรดระบบซัพพลายเชน เช่นนำข้อมูลในอดีตมาวิเคราะห์ demand supply ทำให้สั่งซื้อสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบสมาชิกลูกค้าหรือ membership เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าซึ่งจะทำให้การนำเสนอสินค้าได้ตรงความต้องการของลูกค้าแต่ละคน

 

5 พัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้าและธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะช่องทางจำหน่ายและการตลาดออนไลน์นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายสาขาในรูปแบบ stand alone ในพื้นที่ใกล้แหล่งชุมชนโรงเรียนและแหล่งทำงานรวมทั้งแฟรนไชส์ในจังหวัดรองผ่านเครือข่ายลูกค้า

เบื้องลึก "โมชิ โมชิ" จากกิ๊ฟช็อปเล็กๆสู่ค้าปลีกไลฟ์สไตล์เบอร์1

“สำหรับปีหน้าเราประเมินว่าธุรกิจสินค้าประเภทนี้มีโอกาสที่จะมีการแข่งขันที่สูง สิ่งสำคัญที่สุดถ้าเราเข้าใจตลาด และออกสินค้าที่ตรงกับตลาดและรักษาระดับราคาที่วางไว้ได้ รวมถึงดีไซน์ออกแบบที่ทันกับเทรนด์แฟชั่นอย่างต่อเนื่อง ปรับและอัพเดทให้เหมาะสมจะทำให้เรารักษา market share และคงความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งไว้ได้” 

นางสาวศุภรดา โรจน์วัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MOSHI

ทางด้านนางสาวศุภรดา โรจน์วัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MOSHI เปิดเผยเพิ่มเติมถึงความแข็งแกร่งด้านการเงินว่า รายได้ของบริษัทจะมาจาก 3 ส่วนคือรายได้จากการค้าปลีก 87%  รายได้จากการค้าปลีกแบบมีส่วนลด12% และส่วนที่เหลือจะเป็นช่องทางอื่นๆเช่นออนไลน์หรือ pop up store  ภาพรวมรายได้แม้ว่าปี 2562-2564 จะเป็นช่วงโควิด แต่รายได้ของเราไม่ได้ปรับลดตัวลดลง และเริ่มเห็นการฟื้นตัวในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 จากสถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นรวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆเริ่มกลับมาคึกคักเหมือนเดิมโดยอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทสูงถึง 50% กำไรสุทธิ 17%  

 

“ที่ผ่านมาในช่วงโควิดเรามีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญที่สุดคือการปรับ product mix ให้เข้ากับสถานการณ์ซึ่งเป็นตัวหลักที่ทำให้เราสามารถรักษาอัตรากำไรไว้ได้ เราเชื่อว่าหลังจากนี้ไปโควิดเริ่มดีขึ้นในทิศทางบวก รวมทั้งปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวและการที่นักเรียนเริ่มกลับเข้าไปเรียนในสถานศึกษา คนทำงานกลับไปทำงานในออฟฟิศ รวมทั้งกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆเริ่มกลับมา และที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือเทศกาลปีใหม่ ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนในเชิงบวกต่อธุรกิจไลฟ์สไตล์ได้ในอนาคต”


เบื้องลึก "โมชิ โมชิ" จากกิ๊ฟช็อปเล็กๆสู่ค้าปลีกไลฟ์สไตล์เบอร์1

นอกเหนือจากความสำเร็จที่ผ่านมาและทิศทางธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่องในปัจจุบันแล้ว MOSHI กำลังจะก้าวเข้าสู่การเติบโตใน Chapter ใหม่และพร้อมที่จะก้าวเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง “สง่า”เปิดเผยความคืบหน้าว่า ขณะที่บริษัทได้ยื่นไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้วเพื่อให้ทาง กลต. พิจารณาต่อไป

 

นอกเหนือจากนี้ยังมีแผนศึกษาการลงทุนขยายสาขาในต่างประเทศ “เรามีการเซ็ตทีมงานเพื่อศึกษาตลาดต่างประเทศ แต่เราจะต้องยอมรับว่าแต่ละประเทศชื่นชอบสินค้าไม่เหมือนกัน เช่นตอนนี้เรามีสินค้า 70% ที่สามารถนำไปขายต่างประเทศได้และอีก 30% อาจจะต้องเป็นสินค้าเฉพาะประเทศนั้นๆ ถ้าผลการศึกษาสำเร็จเราก็จะขยายต่างประเทศทันที คาดว่าหลังจาก 3 ปีไปเราจะเห็นภาพตรงนี้อย่างชัดเจนขึ้นในส่วนของตลาดต่างประเทศ 

 

ส่วนปีนี้เรายังมองว่าตลาดในประเทศยังมีความน่าสนใจเพราะ  ช่วงปลายปีเป็นซีซั่นที่คนจับจ่ายของเพื่อนำไปแจกและเป็นซีซั่นไฮไลท์ของเรา ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้สินค้าของเราขายดีมาก  ส่วนปัจจัยลบเราอาจต้องระวังสถานการณ์โควิดที่แม้จะดีขึ้นแต่ก็ยังไม่แน่นอน”