นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไฮซีซันถือเป็นช่วงที่สำคัญของธุรกิจค้าปลีก เป็นช่วงที่มีการจับจ่ายใช้สอยสูงที่สุดของปี ขณะเดียวกันปีนี้บรรยากาศโดยรวม เชื่อว่าจะกลับมาคึกคักขึ้น
จากปัจจัยบวกรอบด้าน ทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ทำให้มู้ดในการจับจ่ายใช้สอยโดยรวมของประเทศที่ดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022
ทั้งนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในเดือนพฤศจิกายนราว 1.5 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าไว้ จึงเป็นแรงหนุนให้ธุรกิจในประเทศฟื้นตัวได้มากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในปลายปีนี้มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี กำลังซื้อของลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งลูกค้าชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
โดยห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเดอะมอลล์, เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ ทุกสาขา, เอ็มโพเรียม, เอ็มควอเทียร์ และพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ร่วมกันทุ่มงบกว่า 300 ล้านบาทจัดแคมเปญ “The Great Happy New Year 2023” อภิมหาเซลล์ครั้งใหญ่แบบอัพไซส์ขึ้น โดยชูกลยุทธ์ Omni-Channel Retails ผสานรวมการช่องทางการจำหน่ายภายในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และช้อปออนไลน์เข้าด้วยกัน
“การจัดแคมเปญปีใหม่ในครั้งนี้ เราให้ความสำคัญ Customer Journey Ecosystem โดยใช้ฐานข้อมูล Big Data จาก Customer Platform และเทคโนโลยี AI - Analytics ที่ช่วยให้เราเข้าใจ Omnichannel Ecosystem และ Customer Journey Ecosystem พร้อมกับนำมาใช้เป็นโจทย์ จนได้แคมเปญ “The Great Happy New Year 2023” ซึ่งเชื่อว่าจะโดนใจลูกค้าอย่างแน่นอน”
สำหรับไฮไลท์ The Great Happy New Year 2023 จะเป็นการระดมแบรนด์ดังทั้งในไทยและทั่วโลกมาร่วมลดกระหน่ำทุกชั้น ทุกแผนกโดยให้ส่วนลดสูงสุดกว่า 90% พร้อมลุ้นรับรางวัลมูลค่ากว่า 88 ล้านบาท อาทิ รถยนต์ TOYOTA FORTUNER, เครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-ฟุกุโอกะ ญี่ปุ่น, กรุงเทพฯ-ไต้หวัน และ กรุงเทพฯ-เวียดนาม ฯลฯ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 30% และมียอดขายจากแคมเปญปีใหม่นี้รวมกว่า 6,000 ล้านบาท
นางสาววรลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาตลาดในช่วงที่ผ่านมาพบว่า หลังการระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่
1. Physical Experience is back การสัมผัสด้วยประสบการณ์จริงๆ จะกลับมา โดยลูกค้าจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ไปทำงาน เรียน กินข้าว ออกกำลังกายมากขึ้น เพราะการอยู่บ้านนาน ทำให้เกิดอาการโหยหาอยากสัมผัสประสบการณ์จริงในสถานที่จริง (Check-in and Experience)
2. Customers Tend to be less Loyal than before ความภักดีของลูกค้ามีน้อยลง ลูกค้ายุคใหม่ไม่ใส่ใจในการจดจำแบรนด์เท่าแต่ก่อน มีความภักดีต่อแบรนด์น้อยลง และพร้อมเปลี่ยนไปใช้แบรนด์อื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
3. Search & compare are rising การค้นหายังคงเป็นเรื่องที่นิยมทําอย่างต่อเนื่อง โดยลูกค้าในปัจจุบันนิยมค้นหาข้อมูลต่างๆ ประกอบการตัดสินใจ เปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจ
4. Research Offline then Buy Online สัมผัสสินค้าที่ร้าน แล้วกลับไปซื้อผ่านเน็ต มีลูกค้าบางส่วน เลือกไปลองสินค้าจริงๆ ก่อนเพื่อความมั่นใจ จากนั้นค่อยกลับมาหาข้อมูลเปรียบเทียบราคา แล้วตัดสินใจสั่งซื้อกับร้านที่ให้ราคาดีที่สุดผ่านทางออนไลน์แทน
5. New payment options and growth of Cashless การชำระเงินรูปแบบใหม่และ การเติบโตที่รวดเร็วของสังคมไร้เงินสด ลูกค้าเริ่มมีการใช้จ่ายผ่าน Digital Payment ทั้งบัตรเครดิต ระบบ E-Wallet หรือแอพเป๋าตังค์ต่างๆ มากขึ้นกว่าในอดีต ทั้งการช้อปผ่านทาง Online และ Offline
ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องเข้าใจในเรื่องของ Customer Journey Ecosystem ต้องเข้าใจทุกความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง และนำเสนอสินค้ารวมถึงบริการได้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด พร้อมคัดสรรโปรโมชั่นที่ดีที่สุดเพื่อสร้าง Value ให้กับลูกค้ามากกว่าแค่การลด แลก แจก แถมทั่วไป
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,836 วันที่ 17 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565