เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 ผลักองค์กรปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เลือกใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้เงื่อนไขราคาสินค้าและบริการต้องจับต้องได้และบรรจุภัณฑ์ต้องย่อยสลายได้
รศ.แอนนา จุมพลเสถียร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมบนโลก ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผู้คนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงคนรุ่นใหม่ทั้งในระดับนิสิตนักศึกษาและคนทำงานซึ่งส่วนใหญ่เปิดกว้างที่จะรับรู้ และมีความกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ปัญหามลพิษ ปัญหาโลกร้อน รวมไปถึงปัญหาการจัดการขยะ เพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และคิดว่าการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
“ความคาดหวังต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมสำหรับคนรุ่นใหม่ยังครอบคลุมถึงการเลือกใช้สินค้ารักษ์โลก ซึ่งเป็นสินค้าหรือมีบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการแปรสภาพและนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ (reuse) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่ายตามธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กว่า 60% ของกลุ่มตัวอย่างเคยซื้อสินค้าประเภทรักษ์โลก ส่วน 30% ไม่เคยซื้อแต่มีความสนใจในผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ที่น่าแปลกใจคือคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาก่อน พวกเขาไม่ใช่นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่พร้อมเปิดใจเลือกสินค้ารักษ์โลกมาใช้ในชีวิตประจำวัน แสดงให้เห็นว่าการรักษ์โลกไม่ได้เป็นเทรนด์เฉพาะกลุ่ม แต่เป็นแนวคิดส่วนใหญ่ของคนรุ่นใหม่เหล่านี้”
โดยคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจสินค้ารักษ์โลกในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (personal care) และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน (household product) ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า ผิวกาย และหนังศีรษะ ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอเนกประสงค์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น โดยราคาของสินค้าควรอยู่ในช่วงราคา 100-200 บาท หรือมีราคาไม่สูงกว่าสินค้าทั่วไป (non-green product) เกินกว่า 100 บาท แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่สนใจและยินดีซื้อผลิตภัณฑ์รักษ์โลกมาใช้ หากอยู่ในช่วงราคาที่ย่อมเยาจับต้องได้ และมีราคาใกล้เคียงกับสินค้าโดยทั่วไปที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก
นอกจากนี้ ผลวิจัยยังชี้ให้เห็นอีกว่า คนรุ่นใหม่คาดหวังว่าสินค้ารักษ์โลกส่วนใหญ่ควรมีบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกที่ย่อยสลายได้ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปเติมได้ (refill) สกัดหรือมีส่วนผสมจากธรรมชาติ ต้องมีการแสดงวันหมดอายุ แสดงส่วนผสมบนผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ มีบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกต่อการใช้งาน มีราคาที่เหมาะสมกับปริมาณ คุณสมบัติและราคาเหมาะสมเมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไป (non-green product) ซื้อหาง่ายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือร้านสะดวกซื้อ ขณะที่การสื่อสารการตลาดสำหรับสินค้ารักษ์โลก คนรุ่นใหม่เชื่อถือการใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
ในการประชาสัมพันธ์ และตอบสนองต่อกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เช่น การใช้คูปองส่วนลด และการมีส่วนร่วมในการบริจาค
ด้านนายสุทธิพงค์ ลิ่มศิลา หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์องค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การที่คนรุ่นใหม่ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและสนใจเลือกใช้สินค้ารักษ์โลกมากขึ้น จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินงาน และให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาโอเองเราใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ตั้งแต่กระบวนการผลิต การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ ระบบการขนส่งต่างๆ ทุกขั้นตอน กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ถึงมือผู้บริโภค เราพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
แม้จะมีความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้สินค้ารักษ์โลกที่มีต้นทุนสูง สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ทั่วไป แต่เพื่อแก้ปัญหาและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว คาโอก็พร้อมที่จะสนับสนุนสินค้ารักษ์โลกเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค และจากผลการวิจัยที่ Gen Z มองว่ายังไม่มีแบรนด์ใดเป็นองค์กรที่รักษ์โลกในใจ สิ่งนี้จึงเป็นโอกาสสำหรับคาโอในการสร้างการรับรู้และสร้างจุดยืนในใจผู้บริโภครุ่นใหม่ ในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญและใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง”