หลังรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ พร้อมเปิดประเทศผ่อนปรนมาตรการเดินทางเข้าประเทศได้ง่ายขึ้น ปลุกให้บรรยากาศการจับจ่ายกลับมาคึกคักขึ้น เห็นได้จากตัวเลขลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในห้างและศูนย์การค้าชั้นนำที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสยามพารากอน ที่มีผู้มาใช้บริการสูงถึง 1.8 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2562 (ก่อนการระบาดโควิด) ซึ่งมีผู้มาใช้บริการราว 1.6 แสนคน และเมื่อรวม 3 ศูนย์การค้าพบว่ามีทราฟฟิคเพิ่มขึ้นถึง 25% ส่วนไอคอนสยาม ก็เพิ่มขึ้นถึง 21% ขณะที่เซ็นทรัลเวิลด์ ก็มีลูกค้ากลับเข้ามาใช้บริการเพิ่มเกือบเท่ากับช่วงปี 2562 เช่นกัน ถือเป็นสัญญาณที่ดีและส่งต่อมายังปี 2566
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2566 ควรมองเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยเป็น 2 ส่วน คือครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโลกในครึ่งปีแรก ยังคงมีความเสี่ยงแต่มีความเป็นไปได้ที่จะก้าวผ่านภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Global Recession) ของโลกในครึ่งปีหลัง เนื่องจากปัจจัยหลายๆ ด้าน ถ้าสามารถควบคุมได้ดี จะส่งผลต่อครึ่งปีหลังเป็นเชิงบวก เช่น สภาพการเงินโลกที่ตึงตัวจากการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา ถ้าสามารถหยุดการขึ้นดอกเบี้ยของ FED หรือปรับดอกเบี้ยให้ลดลงได้ในครึ่งปีแรก ก็จะทำให้ครึ่งปีหลังมีแนวโน้มการฟื้นตัวได้ดี สำหรับโซนยุโรป ต้องแก้ปัญหา Recession ให้เป็นแบบ Soft Recession ให้ได้
“โดยรวมมองว่าครึ่งปีแรกของเศรษฐกิจโลกยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด และเร่งแก้ปัญหาโดยด่วนเพราะจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังครึ่งปีหลัง”
ส่วนของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก จะเป็นการฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง จากการเติบโตเชิงบวกของภาคท่องเที่ยว ที่จะสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับระบบเศรษฐกิจไทยให้โตต่อเนื่อง แต่การท่องเที่ยวจะเติบโตได้ รัฐบาลต้องช่วยยกระดับภาคบริการและค้าปลีกของไทย เพราะส่วนนี้ถือเป็น Back Bones ของการท่องเที่ยว เนื่องจากมี SMEs ในระบบกว่า 2.4 ล้านราย และมีการสร้างการจ้างงานกว่า 13 ล้านคน เพราะฉะนั้น ถ้าภาคบริการและค้าปลีกแข็งแรง เครื่องยนต์ตัวเดียวของประเทศไทยคือภาคท่องเที่ยวก็จะแข็งแรงตามไปด้วย และจะส่งต่อโมเมมตัมที่ดีไปยังเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในครึ่งปีหลัง
“อีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ครึ่งปีแรกของไทยฟื้นตัว เกิดขึ้นจากการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ (Local Consumption) แต่ภาคการส่งออกอาจจะเติบโตช้า เนื่องจากถูกกระทบจากการหดตัวของการค้าโลก อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ซึ่งภาคเอกชนต้องเตรียมแผนทั้งเชิงรับ และเชิงรุก และที่สำคัญต้องปรับตัวตามสถานการณ์ให้ได้อย่างรวดเร็ว”
ด้านนายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้ตลาดเริ่มฟื้นตัวจากโควิด กลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ ทำให้เห็นการเติบโตมาตลอด และปรับสูงขึ้นมากในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากเป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยแล้ว การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เช่น จากตะวันออกกลาง เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย เป็นต้น ช่วยทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาคึกคักขึ้น
“เชื่อว่าตลาดน่าจะเติบโตต่อเนื่องจากช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ ตรุษจีน ซึ่งปีนี้มาเร็วขึ้น กอปรกับมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ ช้อปดีมีคืน น่าจะช่วยทำให้ตลาดเติบโตได้ต่อไป รวมถึงการที่จีนกำลังจะเปิดประเทศในวันที่ 8 ม.ค. 66 นี้ซึ่งเป็นผลบวกของการท่องเที่ยวไทย โดยนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นประมาณ 30% ของทั้งหมดในส่วนของบิ๊กซีจะได้รับผลบวกค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจะมาเสริมนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งปัจจุบันยอดขายของสาขาสำหรับนักท่องท่องฟื้นตัวกว่า 80% หากมีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มเข้ามาอีก คาดว่ายอดขายน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในส่วนของค่าเช่า ก็มีการปรับตัวที่ดีขึ้นในไตรมาส 4 และคาดว่าปี 2566 จะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน”
ขณะที่นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า มองว่าปัจจัยบวก คือ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลงส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักๆ ที่เข้ามาในประเทศไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวขณะนี้คือ นักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียน กลุ่มชาติตะวันตก และอินเดีย ขณะที่การเปิดประเทศของจีนจะทำให้มีชาวจีนมาเที่ยวประเทศไทยเป็นจำนวนมากพร้อมอยู่เที่ยวนานขึ้น อันจะส่งผลธุรกิจในประเทศ และทั่วโลกฟื้นตัวได้มากขึ้น
ด้านปัจจัยลบที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก คือ ภาวะเงินเฟ้อ ที่ขณะนี้กำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีเรื่องอัตราค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับขึ้นราคา ซึ่งปัจจัยด้านพลังงานถือเป็นต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงธุรกิจค้าปลีกด้วยเช่นกัน หากมีการปรับตัวขึ้นก็จะส่งผลให้ภารธุรกิจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เนื่องจากแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว เมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของผู้บริโภค รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,849 วันที่ 1 - 4 มกราคม พ.ศ. 2566