กลยุทธ์ “การตลาด” ถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ซึ่งแต่ละแบรนด์จะมุ่งทำตลาดเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ตามมาด้วยยอดขายและส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น แต่ละปี “ฐานเศรษฐกิจ” จะรวบรวม “ปรากฏการณ์การตลาด” ที่สร้างกระแส แรงกระเพื่อม และโอกาสใหม่ๆ ให้กับโลกธุรกิจและสังคม ในปี 2565 ได้แก่
ไวรัลแห่งปีจาก“ห่านคู่-นันยาง”
ถือเป็นปรากฏการณ์การตลาด “พลังบวก” และกลายเป็น “ไวรัลแห่งปี” ในช่วงเวลาข้ามคืน สำหรับกระแส “ถึงคุณ.. คนธรรมดา” หนึ่งในแคมเปญการตลาด “ธรรมดาที่ทำมาดี” ของห่านคู่ ที่ส่งพลังบวกให้กับแบรนด์สินค้าอื่น และคนธรรมดา ทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น ท่ามกลางวิกฤติรุมเร้ารอบด้าน
จากจุดเริ่มต้นเมื่อแบรนด์ “ห่านคู่” ส่งจดหมายเปิดผนึก “ถึงคุณ...คนธรรมดา” ด้วยใจความสั้นๆว่า เรารู้ว่าคุณเหนื่อยกับการใช้ชีวิตในฐานะคนธรรมดา ที่ไม่โดดเด่นหรือพิเศษแบบคนอื่นๆ ถึงแม้จะตั้งใจใช้ชีวิตแค่ไหน ชีวิตก็อาจจะสู้กับอยู่เสมอ ห่านคู่อยากบอกว่า ถ้าคุณรู้สึกเหนื่อย เราจะเป็นความสบายใจให้กับคุณ อยู่เคียงคู่คุณในช่วงเวลาธรรมดาของชีวิต เราอยู่ง่าย อยู่ทน ไม่ต้องดูแลมากมาย และจะคอยเป็นพื้นที่ที่คุณสามารถเป็นตัวเองได้เสมอ ขอเพียงแค่คุณอย่ารู้สึกผิดกับการเป็นคนธรรมดาก็พอ เพราะเราเชื่อว่าในความธรรมดา คุณได้ทำมาดีในแบบของตัวเองแล้ว…
ด้วยใจความเรียบง่าย แต่เข้าถึง และจี้ปมในใจ “คนธรรมดา” ทุกคน ซึ่งผิวเผินดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่แน่นอนว่าเมื่อเป็นกิมมิคการตลาด ย่อมมีพันธมิตรที่พร้อมร่วมสานต่อ
การตอบกลับของ “นันยาง” สร้างความฮือฮาทันที เพราะหากจะตอบแบบธรรมดา เหมือนเขียนจดหมายหาเพื่อนรัก ก็อาจไม่สะดุดตาเท่าไร แต่การตอกย้ำความเป็นคนธรรมดา ก็ต้องแฝงความดราม่าแบบน่ารักๆ เนียนๆ มาช่วยเติมเชื้อไฟ ให้จุดติดเร็วขึ้น จากห่านคู่ถึงนันยาง ไม่ใช่แค่ 1+1 เท่ากับ 2 แต่กลายเป็นกระแส ไปยังแบรนด์ดังทั้งไทยและต่างชาติ ที่พาเหรดมาร่วมส่งต่อสร้างตัวตนคนธรรมดา อย่าง KFC, เซเว่นอีเลฟเว่น, ยาหม่องถ้วยทอง, ซิงเกอร์, อย. วิทยุการบินฯ หรือแม้แต่ รมต. ท่องเที่ยวและกีฬา “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” ก็ร่วมขบวนนี้ด้วย ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม และกลายเป็นปรากฏการณ์การตลาดพลังบวกได้เป็นอย่างดี
Soft Powerพลังไร้ขีดจำกัด
Soft Power กลายเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ถูกสร้างและส่งต่อยาวนานตลอดทั้งปี และกลายเป็นอิทธิพลที่ไม่ได้มาจากการบังคับหรือใช้ความรุนแรง แต่โน้มน้าวผู้อื่นให้คล้อยตามด้วยเครื่องมือที่ไม่ใช่อาวุธ ถือเป็นอีกกระแสที่มีความน่าสนใจและถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวไดรฟ์เศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย
ปรากฎการณ์ Soft Power ที่ถูกพูดถึงในปี 2565 จนกลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ มีทั้ง “ข้าวเหนียวมะม่วง” ที่กระแสฟีเวอร์เกิดต้าน ทำยอดขายถล่มทลาย เมื่อ “มิลลิ” ศิลปินไทยหนึ่งเดียวบนเวทีระดับโลก Coachella โชว์สเต็ปทั้งร้อง เต้น และรับประทานข้าวเหนียวมะม่วงจนเรียกเสียงฮือฮา ตามด้วย “ลิซ่า เอฟเฟกต์” กับ “ลูกชิ้นยืนกิน” จ.บุรีรัมย์ จนกลายเป็นที่รู้จักทั่วทั้งประเทศ หรือจะเป็นหมูกะทะ ที่เพียง “ลิซ่า” แวบไปนั่งทานก็กลายเป็นพลังดึงดูดให้ยอดจองคิวแน่นเพื่อ “ตามรอยลิซ่า”
การตอบรับในทางบวกที่สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจมหาศาล ทำให้ภาครัฐเกิดความตื่นตัวในสร้างกระแส Soft Power และดึงมาเป็นคีย์เวิร์ดในการชูวัฒนธรรมประเพณีไทย ทั้งในด้านอาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น ศิลปะป้องกันตัว และประเพณีไทย และเชื่อว่า Soft Power ของไทยยังมีอีกมากมายล้นหลาม ไม่ว่าจะเป็นเมนูสุดฮิต อย่างผัดไทย แกงเขียวหวาน ข้าวซอย ฯลฯ รวมถึง “ซีรีย์วาย” ชั่วโมงนี้จึงต้องจับตาดูว่า อะไรจะก้าวขึ้นมาเป็น Soft Power ลำดับถัดไป
Pet Humanizationปลุกตลาดสัตว์เลี้ยงบูม
การระบาดของโควิด ที่นอกจากจะทำให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพ เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษาแล้ว อีกหนึ่งพฤติกรรมที่ปรากฏคือ การทำานที่บ้าน ซึ่งส่งผลต่อความนิยมเลี้ยงสัตว์เพื่อคลายความเหงา เกิดเป็นเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเสมือนเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว (Pet Humanization) การดูแลจึงต้องเกิดขึ้นแบบองค์รวม (Holistic Wellness) เลือกอาหารที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ สิ่งแวดล้อมและอากาศ นอกเหนือจากอาหาร จึงต้องมีทั้งอาหารเสริม ขนมขบเคี้ยว แฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องให้อาหาร-น้ำ กล้องวงจรปิด ของเล่นแก้เครียด ฯลฯ
ขณะที่ภาคบริการทั้งบริการกรูมมิ่งหรือเสริมความงาม สปา โรงแรมและรับฝากเลี้ยง สระว่ายน้ำ แม้แต่โรงเรียนฝึกสุนัข ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน ยังไม่นับรวมไปถึงคอนโดมิเนียม ที่ชูจุดขายสามารถเลี้ยงสัตว์ได้ ก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษเห็นจะเป็นตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่เติบโตก้าวกระโดดต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งจากการเติบโตในประเทศและการส่งออก โดยพบว่าตลาดสัตว์เลี้ยงที่มีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาทราว 50% ยังเป็นอาหารสัตว์ (ทั้งชนิดเปียกและแห้ง)
ส่วนที่เหลือเป็นธุรกิจบริการและอุปกรณ์ดูแลสัตว์เลี้ยง โดยแต่ละปีมีการเติบโต 15-20% ขณะที่ตลาดส่งออกทั้งในแถบยุโรป และอเมริกา รวมถึงจีน ยังคงสดใสและเป็นตลาดที่เปิดกว้างของผู้ประกอบการไทย จึงไม่แปลกอะไรหากวันนี้จะมีแบรนด์ผู้ผลิตอาหารชั้นนำสำหรับคนจะหันมาผลิตอาหารสัตว์เพิ่มมากขึ้น
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,848 วันที่ 29 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565