เป็นประจำทุกปีที่ “ฐานเศรษฐกิจ” นำเสนอความเคลื่อนไหวในแวดวงการตลาด ที่มีสินค้าใหม่ แบรนด์ใหม่ รวมถึงการตลาดแบบใหม่ เกิดขึ้นและกลายเป็น “ดาวรุ่ง” แต่ขณะเดียวกันเมื่อมีดาวรุ่ง ก็ย่อมมี “ดาวร่วง” เมื่อธุรกิจตกอยู่ในภาวะขาลง แบบไร้สัญญาณบวก ซึ่งปี 2565 ก็เช่นกัน ซึ่งดาวรุ่ง-ดาวร่วง ที่นำเสนอนี้ถือเป็นหนึ่งในทิศทางให้นักธุรกิจ-นักการตลาด นำไปประกอบใช้ในการเดินหน้าธุรกิจ และปรับตัวในอนาคต
“กัญชง” ฉายแสง
ธุรกิจที่ฉายแสงสุดๆ ในปี 2565 เห็นจะหนีไม่พ้น “กัญชง-กระท่อม” หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมไม่รวม “กัญชา” ด้วย เหตุผลคือ แม้วันนี้กัญชาจะถูกปลดล็อกจากบัญชีรายชื่อยาเสพติดแล้ว แต่กัญชายังมุ่งเป้าไปที่การนำไปใช้เพื่อการแพทย์ และยังต้องรอพ.ร.บ. กัญชา ให้มีผลบังคับใช้
การนำมาต่อยอดหรือสร้างในเชิงธุรกิจจึงยังมีข้อจำกัด แตกต่างจากกัญชงและกระท่อม ซึ่งวันนี้ “กระท่อม” ถูกนำไปผลิตและแปรรูปขายทั้งใบกระท่อมสด/ต้ม, น้ำกระท่อม วางขายตามริมถนน แทบจะทุกหัวระแหง แต่อนาคตยังต้องจับตาดูต่อไปว่าจะถูกต่อยอดเป็นอะไรได้บ้าง
ขณะที่ “กัญชง” กลายเป็นอุตสาหกรรมที่สุดคึกคัก เมื่อถูกแปรรูปเป็นสินค้าหลากหลายทั้งเครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว อาหารเสริม เวชสำอาง ยังไม่นับรวมเส้นใยกัญชงที่ถูกนำไปแปรรูปเป็นเสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งในอนาคตยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เปิดเสรีกัญชา-กัญชง จึงกลายเป็นโอกาสในการรุกทำตลาด ซึ่งในปีนี้คาดว่าอุตสาหกรรมกัญชงจะมีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 7,200 ล้านบาท และขยายตัวเป็น 1 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และเติบโตก้าวกระโดดเป็น 5 หมื่นล้านในปี 2568 บ่งชี้ให้เห็นว่ายังมีโอกาสเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกมาก จากนโยบาย Medical Hub ผนวกกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ และอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ก้าวหน้า
Future Food อนาคตสดใส
Future Food หรืออาหารแห่งอนาคต กลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่มาแรงไร้คู่แข่ง ถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่น่าจับตามอง ไม่ใช่เฉพาะแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ในตลาดต่างประเทศถือเป็นตลาดใหญ่และโอกาสของผู้ประกอบการไทย ในฐานะซัพพลายเชนใหญ่ของโลก โดย Future Food ที่ได้รับความนิยมมากสุดคือ กลุ่มอาหารใหม่ (Novel food) ที่มีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นมี 2 กลุ่ม ได้แก่
1. อาหารจากพืช (Plant-based food) ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ารวมกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 20% โดย Plant-based food ที่ได้รับความนิยมมากสุดได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์นม (Plant-based milk) 45% รองลงมาคือเนื้อสัตว์ทดแทน (Plant-based meat) 15% และไข่ทดแทน (Plant-based egg) 10%
2. อาหารจากแมลง (Edible insect) ซึ่งตลาดนี้แม้ปัจจุบันจะมีมูลค่าน้อย แต่ไทยถือเป็นฐานส่งออกใหญ่ โดยมีมูลค่าการส่งออกราว 2,800 ล้านบาทหรือ 500-600 ตันต่อปี ขณะที่ตลาดโลกให้ความนิยมเพราะแมลงโปรตีนถือเป็นแหล่งโภชนาการสำคัญของคนในอนาคต ที่ให้ทั้งโปรตีน ไขมัน และพลังงานสูง สามารถเป็นแหล่งแร่ธาตุและวิตามินที่ดีแก่มนุษย์มากกว่าเนื้อสัตว์หลายชนิดที่เราบริโภคอยู่
จึงเป็นโอกาสของคนไทยในการขยายตลาดไปทั่วโลก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้สามารถพัฒนาวัตถุดิบที่มีความพร้อมเข้าสู่การแปรรูปได้ดียิ่งขึ้น
ชูกำลัง ฮึกเหิม
แม้ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง หรือ energy drink จะยืนหยัดยาวนานแต่ก็มีขึ้น มีลง โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีหลังปฏิเสธไม่ได้ว่า ถูกเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อื่นไล่เบียดชิงนักดื่ม แต่ตลาดเอ็นเนอร์ยี ดริ๊งก์ก็เหมือนแมว 9 ชีวิต เพราะการปรับตัวของผู้ประกอบการแต่ละราย ที่ดึงนวัตกรรมมาพลิกโฉมทั้งรสชาติ เติมแต่งเฟเวอร์ ส่วนผสม เพิ่มฟังก์ชันเข้าไป ทำให้เป็นมากกว่าเครื่องดื่มชูกำลัง Positioning - Packaging ที่เปลี่ยนไป จึงมุ่งตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ที่ชื่นชอบทดลองของใหม่
ตลอดปี 2565 จึงเห็นแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลัง ดาหน้าออกวางจำหน่ายทั้งจากผู้ผลิตหน้าเดิม และหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็น M-150 ใหม่เพิ่มวิตามินบี 12, M-150 กลิ่นเทอร์ปีน, Red Bull Halls XS, คาราบาวแดงสูตรใหม่ เพิ่มวิตามิน B12 หรือจะเป็นแบรนด์ใหม่จากผู้ผลิตหน้าใหม่อย่าง G-BEAT, Predator Shot จากค่ายเอเซอร์ หรือแม้แต่ POWER THAITANIUM จากวงไทยเทเนี่ยม ที่เปิดตัวรุกจับกลุ่ม วัยรุ่น นักดื่มหน้าใหม่ กลุ่มเกมเมอร์และอีสปอร์ต
ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่มีมูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านบาทจึงสดใสทันที เมื่อขยายฐานสู่คนรุ่นใหม่ ที่พร้อมเปิดกว้างและกล้าที่จะทดลองของใหม่ อนาคตของตลาดนี้จึงส่งสัญญาณเติบโตได้อีกมาก
ดาวร่วง อับแสงไร้แรงไปต่อ
หลายธุรกิจที่ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 และยังไม่ฟื้นกลับมา ยังคงต้องอาศัยเวลาที่จะปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สำหรับหลายธุรกิจที่วันนี้เรียกว่าถึงเวลาต้อง “ปิดฉาก” เพราะไม่อาจปรับตัวและต้านแรงแข่งขันได้ ทำให้กลายเป็น “ดาวร่วง” ต้องปิดตัวลงหรือหันไปทำธุรกิจอื่นแทน
ในแต่ละปีมีสถาบัน หน่วยงานหลายแห่งออกมาทำนายทายทักถึงธุรกิจที่เป็นดาวร่วง และทยอยลาลับไป แต่ผลลัพธุ์ที่เห็นอย่างชัดเจนในปี 2565 เห็นจะหนีไม่พ้น ร้านเช่าหนังสือ แผงหนังสือ ร้านขายอุปกรณ์รับบริการถ่ายภาพ ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าการ์เม้นท์ ธุรกิจโรงพิมพ์/สิ่งพิมพ์ รวมไปถึงธุรกิจขายต้นไม้ ดอกไม้ ดอกไม้ประดิษฐ์ ที่นับวันจะลดลง หลังจากที่ส่งสัญญาณต่อเนื่องมา 2-3 ปี
อย่างไรก็ดีจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย และรัฐบาลปลดล็อกเปิดประเทศ ถือเป็นปัจจัยบวก แต่ปัจจัยลบก็ยังคงมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นภาระต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้น การตัดลดค่าใช้จ่าย อัตราดอกเบี้ย รวมถึงค่าเงิน ล้วนทำให้การบริโภคในประเทศจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ และส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ โอกาสในการดำเนินธุรกิจก็ยังคงมีอยู่เช่นเดียวกับอุปสรรคที่จะฉุดรั้งการก้าวเดินของธุรกิจเช่นกัน
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,848 วันที่ 29 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565