ม.หอการค้าไทย ผุดโมเดล Happy U ล่อใจกลุ่ม Gen Z

31 ม.ค. 2566 | 23:23 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2566 | 00:02 น.

ม.หอการค้าไทย พบนักศึกษาเครียดสะสมเพิ่ม 40% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 4% ผุดนโยบาย Happy U รีโนเวทพื้นที่การเรียนรู้ Lifestyle & Learning Space รองรับเด็กกลับมาเรียนปรับมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่แห่งความสุข

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) เผยผลสำรวจ “โครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย” พบว่านิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยมีความเครียดสะสมเพิ่มมากขึ้น เกือบ40% และกว่าร้อยละ 4 ของนิสิตนักศึกษาทั้งหมดเคยคิดฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้งถึงตลอดเวลา ขณะที่นักศึกษาส่วนใหญ่รู้สึกว่าตัวเองมีความสุข 8.41 เต็ม 10 และส่วนใหญ่ต้องการมาใช้ชีวิตอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยหลังจากผ่านพ้นโควิด -19

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.หอการค้าไทย
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนออนไลน์มากกว่าการเรียนการสอนตามปกติในมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาไม่ได้มาทำกิจกรรม หรือมาใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงน้อยลง มหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอน ซึ่งมีนักศึกษาทยอยกลับมาเรียนปกติ และพบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ชอบใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

ที่ผ่านมาสภามหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีม.หอการค้าไทย จึงได้มีนโยบาย Happy U และให้โจทย์มาว่าต้องทำให้นักศึกษามีความสุข  ทำให้นักศึกษาอยากมามหาวิทยาลัย อยากใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย 24 ชั่วโมง รวมถึงได้ให้ลองนำแนวคิด Happy Model ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมาประยุกต์ใช้

UTCC ผุดโมเดลHappy U  "ฟัง” และ “เข้าใจ” เด็ก Gen.Z

ทั้งนี้ระบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย องค์ความรู้ หลักสูตรไม่ได้แตกต่างกัน แต่การใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยที่จะได้รับย่อมแตกต่างกัน Happy Model ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะประกอบด้วย 4 ด้าน คือ กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และแบ่งปันสิ่งดีๆ สู่ “Happy U” ของมหาวิทยาลัยซึ่งต้องการให้นักศึกษามีความสุข สิ่งแรกที่ดำเนินการ คือ การสอบถามความคิดเห็น รับฟังสิ่งที่นักศึกษาต้องการ

 

“โลกเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน ผู้ใหญ่จึงต้องเปิดใจรับฟังและทำความเข้าใจกับเด็กรุ่นใหม่ให้มากขึ้น หลายๆอย่างสะท้อนออกมาจากการสำรวจ จากการพูดคุยกับเด็กรุ่นใหม่ เราพบว่าจุดเล็กๆก็สามารถสร้างความสุขให้พวกเขาได้ แต่เรามักมองข้าม ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่ถนัดซ้าย เขาอยากได้โต๊ะเลคเชอร์สำหรับคนถนัดซ้าย หรือนักศึกษา Oversize เขาก็อยากได้โต๊ะที่เหมาะกับพวกเขา หรือแม้แต่นักศึกษากลุ่ม LGBTQ ที่เขาต้องการห้องน้ำที่ไม่ระบุเพศ มหาวิทยาลัยก็ได้มีการสร้างห้องน้ำ All Gender  สำหรับพวกเขา”

UTCC ผุดโมเดลHappy U  "ฟัง” และ “เข้าใจ” เด็ก Gen.Z นอกจากนี้กรรมการสภามหาวิทยาลัยเน้นย้ำให้นักศึกษาทุกคนที่จบออกจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต้องทำงานเป็น ฉะนั้น นักศึกษาจะไม่ได้เพียงเก่งทฤษฎี แต่ต้องลงมือปฎิบัติ และไม่ใช่มีเพียง Hard Skills เท่านั้น แต่ต้องมี Soft Skills ติดตัวร่วมด้วย ซึ่งการเพิ่ม Soft Skills ถือเป็นการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต การทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะการทำงานในยุคนี้จะเป็นการทำงานของคนหลากหลาย ไม่ว่าจะหลายวัย หลายเพศที่มีประสบการณ์ ความคิด ความเชื่อแตกต่างกัน

 

สิ่งที่จะทำให้คนที่มีความคิด ค่านิยมหลากหลายสามารถทำงานร่วมกันได้ ต้องมีทักษะด้านการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะเรื่อง Empathy หรือการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น และกิจกรรมนี้ ไม่ได้เกิดจากมหาวิทยาลัยคิดแล้วทำ แต่เกิดจากการทำ Focus Groups ไปพูดคุยกับนักศึกษาแล้วพบว่า ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม มุมมองต่อชีวิต สังคมและโลก รวมถึงการให้คุณค่าต่อการทำงานและเป้าหมายชีวิตของคนรุ่นนี้แตกต่างและแปลกแยกจากคนรุ่นก่อนๆอย่างสิ้นเชิง

UTCC ผุดโมเดลHappy U  "ฟัง” และ “เข้าใจ” เด็ก Gen.Z ขณะเดียวกันม.หอการค้าไทย ได้ร่วมกับธนาคารจิตอาสา จัดโปรเจกต์ “Human Library” หรือ “อ่านมนุษย์” มุ่งเน้นพัฒนาทักษะด้าน Empathy โดยเป็นการฝึกอบรมในเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างของมนุษย์ ชวนผู้ที่มีความหลากหลายมาจับคู่นั่งคุย เพื่อทำให้เข้าใจกันได้อย่างเต็มที่ เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจในตัวตนของผู้อื่น และตนเอง เป็น “หนังสือมนุษย์” ที่ผ่านการพูดคุยแบบเปิดใจ ช่วยลดอคติที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ลดการตัดสินผู้อื่น และพร้อมเข้าใจผู้อื่น อันนำไปสู่การทำงานร่วมกัน ใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม ซึ่งจากการจัดกิจกรรมหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่านักศึกษาที่เข้าร่วมเปิดใจยอมรับ เข้าใจมุมมอง และมีความสุขในเชิงร่างกาย จิตใจ และเข้าอกเข้าใจผู้อื่น

 

“เด็กรุ่นนี้ต้องการความเข้าใจ พวกเขาไม่ได้มองเรื่องถูกผิดแบบคนรุ่นเก่า มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัว ให้นักศึกษาได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัยจะเป็นแหล่งเรียนรู้ ลองผิดลองถูกให้เขาผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในรายวิชาในห้องเรียน รวมถึงกิจกรรมนอกห้องเรียน เพราะถ้าพวกเขาจบออกนอกรั้วมหาวิทยาลัยอาจจะไม่มีเบาะรองรับ ไม่มีผู้ใหญ่ ครูอาจารย์คอยให้คำแนะนำ ประสบการณ์ตลอด 4 ปี ในรั้วมหาวิทยาลัยจะฝึกให้เขาแกร่ง เราอยากให้นักศึกษาฝึกฝน เรียนรู้ พัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่ ทำอย่างที่ตนเองต้องการ เดินตามความฝันและไปให้ถึงฝัน อย่าเลียนแบบคนอื่น ให้ทำในสิ่งที่จะช่วยพัฒนา เติมเต็มความสุขให้แก่ตนเอง”