ผวา “ซามาเนีย พลาซ่า” ห้างจีนถล่มไทย จี้ทบทวนภาษีนำเข้าสินค้าราคาถูก

12 มี.ค. 2566 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2566 | 06:24 น.

ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ชี้ “ซามาเนีย พลาซ่า” ยักษ์ค้าปลีกค้าส่งจีนบุกไทย ส่งผลทั้งเชิงบวก เชิงลบ จี้ทบทวนการยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าที่ราคาไม่ถึง 1,500 บาท ย้ำเป็นแต้มต่อให้ต่างชาติทำลายกลไกการค้าไทย

เป็นกระแสครึกโครมต่อกรณีการเปิดตัว “ซามาเนีย พลาซ่า"  (Samanea Plaza Thailand) โครงการค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ในประเทศไทย จากซามาเนีย กรุ๊ป บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน บนพื้นที่ 200 ไร่ ริมถนนบางนา-ตราด กม. 26 ด้วยจุดขายที่สินค้าราคาถูก ครบวงจร ปริมาณมหาศาลทำให้ต่างหวาดผวาว่าจะเข้ามาถล่มตลาดไทย  ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีนั้น

ซามาเนีย พลาซ่า

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย  กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มีข้อเสนอแนะต่อการรุกห้างค้าปลีกค้าส่งของจีนในรูปแบบต่างๆที่แตกต่างกันออกไป และในหลากหลายธุรกิจ ซึ่งต้องมีประเด็นในการตั้งรับ และรุกแก้ไขผลกระทบทั้งเชิงบวก เชิงลบ ดังนี้

ผลกระทบเชิงบวก

1. การเข้าลงทุนของนักธุรกิจจีนในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ดีในการลดต้นทุนวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตของผู้ประกอบการ SME ไทยในส่วนหนึ่งและทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคที่จะได้สินค้าราคาถูกลง

2. ทำให้เกิดการตื่นตัวกระตุ้นการพัฒนาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพ รวมทั้งการตลาดสมัยใหม่ให้มีปรับตัว

3. รายได้ภาษีทางตรงและทางอ้อมจากการค้า การลงทุนของนักลงทุนจีน รวมทั้งการจ้างงานคนไทยบางส่วน

ผลกระทบเชิงลบและการเร่งปรับตัวของภาครัฐและเอกชนไทย

1. การทบทวนภาษีในการยกเว้นทั้งภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าที่ราคาไม่ถึง 1,500 บาท ต้องมีการปรับเปลี่ยนวางเกณฑ์การเรียกเก็บภาษีไม่ให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการภายในประเทศ และการมีแต้มต่อให้ต่างชาตินำสินค้าราคาถูกมาทำลายกลไกการค้าท้องถิ่น การค้าส่ง ค้าปลีกที่มี SME อยู่จำนวนมากในระบบนิเวศน์นี้

2. การเข้ามาลงทุนของนักธุรกิจจีนมักมาแบบ Package เหมามาทั้งคน วัตถุดิบ สินค้า และวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักร ปัจจัยการผลิตต่างๆจากจีนแบบครบเครื่อง โดยที่ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนต่ำมาก ทั้งการจ้างงาน วัสดุ วัตถุดิบ สินค้า และบริการของประเทศไทย

อาทิ การสร้างโรงงานผลิต คลังสินค้าต่างๆของจีน รวมทั้งธุรกิจทัวร์ศูนย์เหรียญ ล้งจีน ที่รุกเข้ามาจนเป็น Business model ใหม่ของจีนในการเข้ามาครอบคลุมทุกห่วงโซ่ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และสุดท้ายประเทศ ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการไทยได้อะไรจาก “การค้าเสรี”

แสงชัย ธีรกุลวาณิช

3 การส่งเสริมการลงทุน การค้าต่างประเทศ ต้องพิจารณาในมิติ ถ้าเราส่งเสริมนักธุรกิจไทยไปลงทุนในลักษณะเดียวกัน ประเทศจีนเปิดโอกาสและให้สิทธิประโยชน์และภาษีกับผู้ประกอบการประเทศไทยเช่นเดียวกันหรือเปล่า ? เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง และตระหนักว่า “การค้าเสรี ต้องไม่ทำลาย หรือ สร้างผลกระทบเชิงลบต่อผู้ประกอบการและประชาชนในประเทศเป็นสำคัญ รัฐได้ประโยชน์ ประชาชนต้องได้ประโยชน์”

4. ภาครัฐต้องมีมาตรการเชิงรุกในการเร่งปรับตัว

  • Digital literacy เพื่อส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าดิจิทัลของผู้ประกอบการ SME กับต่างชาติ และมีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนแพลตฟอร์ม e-commerce ของไทยให้เติบโตทั้งในและขยายไปต่างประเทศ
  • ส่งเสริม SME ให้เข้าถึงมาตรฐานสินค้า บริการต่างๆเพิ่มมากขึ้น รวดเร็วขึ้น และค่าใช้จ่ายน้อยลง เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
  • มีแต้มต่อสนับสนุน ส่งเสริมแหล่งทุนต้นทุนต่ำให้ผู้ประกอบการไทย SME ไทยที่จะขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ
  • Thai Direct Investment (TDI) ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย SME ไทย เข้าไปรุกตลาดในจีนในกลุ่มธุรกิจ BCG Economy และกลุ่ม Creative Economy ที่เป็นจุดเด่นของไทย เพื่อสร้างความสมดุลย์ทางการค้า การลงทุน และการเจรจาการค้าที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนผู้ประกอบการไทยในประเทศที่จะผลิตสินค้า บริการทดแทนสินค้า บริการที่นำเข้าจากต่างประเทศอีกทางด้วย
  • การลงทุนต่างชาติและการใช้นอมินีทางธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการลงทุนต้องมีกระบวนการตรวจสอบ และประเมินผลกระทบโครงการทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน แต่ต้องไม่เป็นการกีดกันทางการค้าการลงทุนที่จะทำให้ประเทศเสียประโยชน์พึงมี

5. ควรมีการกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนการเข้ามาลงทุนในกิจการที่มีผลกระทบต่อห่วงโซ่ธุรกิจของผู้ประกอบการไทย เกษตรกรไทย และประชาชน อาทิ การจ้างงานภายในประเทศ การใช้วัสดุ สินค้าของผู้ประกอบการภายในประเทศสัดส่วนเท่าไหร่ และต้องมีการให้พื้นที่ หรือ สนับสนุนการส่งออกสินค้า บริการของวิสาหกิจชุมชน OTOP SME ในการใช้พื้นที่จำหน่ายของธุรกิจและการค้าแบบดิจิทัลเพื่อส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากอย่างไรบ้าง ? เป็นต้น