สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ผ่านบทความ Red Bull Family’s $8 Billion Wealth Boom Tops All Asia Dynasties ระบุถึงความร่ำรวยที่เพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาของตระกูล “อยู่วิทยา” เจ้าของร่วมผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่มชูกำลังRed Bull ที่โด่งดังระดับโลก ว่าปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ผู้บริโภคผ่านพ้นยุคการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 มาหมาดๆ และเริ่มมองหาความสดชื่นรื่นรมย์ให้ชีวิตที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ Red Bull หรือภายใต้ชื่อไทย “กระทิงแดง” ทำรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ในปีดังกล่าว
ข้อมูลของ Red Bull GmbH (เรดบูล จีเอ็มบีเอช) ซึ่งเป็นบริษัทที่ “เฉลียว อยู่วิทยา” ก่อตั้งขึ้นในประเทศออสเตรีย โดยร่วมทุนกับ “ดีทริช มาเทชิตส์” (Dietrich Mateschitz) นักธุรกิจชาวออสเตรีย ที่สนใจนำสินค้าเรดบูลไปรุกตลาดยุโรป สามารถทำรายได้สูงสุด โดยมียอดจำหน่ายทะลุ 11,000 ล้านกระป๋องในปี 2565 ครองสัดส่วนตลาดเครื่องดื่มชูกำลังโลก 25.1% หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งหมด
รวยเพิ่มขึ้นกว่า 2.5 แสนล้านในปีเดียว
บลูมเบิร์กซึ่งเปรียบเทียบความร่ำรวยของครอบครัวมหาเศรษฐีในเอเชียระบุว่า ครอบครัว “อยู่วิทยา” มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 7,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 250,000 ล้านบาท นับตั้งแต่เดือนมกราคมปีที่แล้ว (2565) และถือเป็นความรวยที่เพิ่มขึ้นมากกว่าตระกูลมหาเศรษฐีใด ๆ ในเอเชีย อ้างอิงจากดัชนีมหาเศรษฐีโลกของบลูมเบิร์กที่เรียกว่า Bloomberg Billionaires Index
ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นในปี 2565 ทำให้ครอบครัวอยู่วิทยา ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลัง Red Bull มีทรัพย์สินรวมมากกว่า 27,000 ล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 14 มีนาคม 2566 ส่วนใหญ่มาจากสัดส่วนหุ้นที่ถืออยู่ใน Red Bull
บลูมเบิร์กชี้ว่า ส่วนมากแล้วครอบครัวมหาเศรษฐีโลกมีความมั่งคั่งลดลงในช่วงปีที่ผ่านมาเพราะความปั่นป่วนในตลาดเงินตลาดทุน แต่สำหรับเครื่องดื่มชูกำลังของตระกูลอยู่วิทยา ที่มีความมั่งคั่งเป็นลำดับที่ 6 ของตระกูลเศรษฐีเอเชีย พวกเขาได้อานิสงส์จากโลกที่ฟื้นตัวและผ่านพ้นยุคระบาดใหญ่ของโควิด-19
“เครื่องดื่มชูกำลังเป็นสิ่งที่แยกไม่ได้กับไลฟ์สไตล์ที่กระฉับกระเฉง การที่คนกลับมาออกกำลังกายกันอีกครั้ง และกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ใช้ชั่วโมงการทำงานยาวนานขึ้น เป็นบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจของเครื่องดื่มชูกำลัง” ไซมอน แชดวิค นักวิชาการด้านกีฬาและเศรษฐกิจการเมือง แห่ง Skema Business School ที่กรุงปารีส ให้ความเห็น
ย้อนอดีตกระทิงแดง ก่อนพุ่งทะยานในนาม Red Bull
ทั้งนี้ Red Bull มีเจ้าของร่วมคือ ครอบครัวอยู่วิทยา และทายาทของดีทริช มาเทชิตส์ แห่งประเทศออสเตรีย ที่ร่วมก่อตั้งบริษัท Red Bull GmbH โดยฝ่ายอยู่วิทยาถือหุ้น 51% ส่วนที่เหลือ 49% เป็นหุ้นของมาร์ค มาเทชิตส์ บุตรชายของดีทริช ผู้ล่วงลับ
มาร์คกลายเป็นเศรษฐีนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ร่ำรวยที่สุดในยุโรปหลังพ่อตายในปีที่ผ่านมา ธุรกิจของ Red Bull ในยุโรปส่วนใหญ่ดูแลโดยฝ่ายผู้ถือหุ้นท้องถิ่น ขณะที่ครอบครัวอยู่วิทยาซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Red Bull GmbH และเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจ TCP Group ในไทย มี 4 บริษัทหลักภายใต้การบริหารของ “สราวุฒิ อยู่วิทยา” ทายาทรุ่นสอง (เขาเป็นบุตรชายของเฉลียว อยู่วิทยา ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอหลังบิดาเสียชีวิตในปี 2555) ดูแลกระทิงแดงในไทยและตลาดอื่นๆในเอเชีย
มีการแบ่งการบริหารงานของทั้งสองแบรนด์ (red Bull และกระทิงแดง) อย่างเด็ดขาด จากสองภรรยาของนายเฉลียว โดยภรรยาคนแรก คือ นางนกเล็ก สดศรี ถือหุ้น Red Bull ซึ่งปัจจุบันนายเฉลิม อยู่วิทยา (บุตรของนายเฉลียวและนางนกเล็ก) เป็นผู้บริหารหลัก ส่วนภรรยาคนที่สองของนายเฉลียว คือนางภาวนา หลั่งธารา ถือหุ้นกระทิงแดงในประเทศไทย โดยปัจจุบันนายสราวุฒิ อยู่วิทยา (บุตรชาย) เป็นผู้บริหารหลัก และดูแลทั้ง 4 บริษัทในเครือ ได้แก่
เครื่องดื่มชูกำลัง Red Bull หรือ กระทิงแดงนั้น ถือกำเนิดในประเทศไทย หลังจากที่นายเฉลียว อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้งบริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ในปี 2499 ต้องการขยายไลน์สินค้าจากยาสู่สินค้าอุปโภคบริโภคในปี 2518 นั่นเป็นปีที่กระทิงแดงเปิดตัวเข้าสู่ตลาด
ต่อมาดีทริช มาเทชิตส์ นักการตลาดชาวออสเตรีย มาเดินทางท่องเที่ยวในเอเชีย เขาถูกใจเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดงที่ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นเป็นปลิดทิ้งจากอาการอ่อนเพลียเพราะการเดินทางยาวนานบนเครื่องบิน จึงขอจับมือกับเฉลียวนำกระทิงแดงมาปรับสูตรแล้วนำสินค้าดังกล่าวไปบุกตลาดยุโรป ทั้งคู่ร่วมทุนก่อตั้งบริษัท Red Bull GmbH ในออสเตรียเมื่อปี 2527 กระทิงแดงกลายเป็น Red Bull ที่ได้รับความนิยมและผงาดเป็นแบรนด์ระดับโลก
ปัจจุบัน Red Bull GmbH มีทั้งสโมสรฟุตบอลและทีมรถแข่ง และยังเป็นผู้สนับสนุนกีฬาแนวเอ็กซ์ตรีมอีกหลายรายการเช่นการแข่งขันกระโดดหน้าผาและการขี่จักรยานเสือภูเขา
ฮาวเวิร์ด เทลฟอร์ด จากบริษัทที่ปรึกษาการตลาด ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ความเห็นว่า Red Bull เป็นหนึ่งในผู้ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการทำตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ และนั่นทำให้แบรนด์ Red Bull คงอัตลักษณ์ที่แข็งแกร่งและความเป็นสินค้าพรีเมี่ยมในกลุ่มเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ (functional beverage)ในปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง