TCP ปักธง “ความยั่งยืน” ดันบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล 100%

06 มี.ค. 2566 | 01:25 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มี.ค. 2566 | 01:36 น.

กลุ่มธุรกิจ TCP เดินหน้าความยั่งยืน ชูวาระเร่งด่วน 3 ด้าน เร่งขับเคลื่อนความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2593 สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน และการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน พร้อมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% หนุนการเก็บกลับเข้าสู่ระบบ ทั้งหมดภายในปี 2567

กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ประกาศอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2565 กับการลงมือปฏิบัติ เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการผลิต กระบวนการทำธุรกิจของกลุ่ม TCP มุ่งเน้นเรื่องของความยั่งยืนเป็นสำคัญ และนำแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนใส่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน โดยตั้งเป้าหมาย 3 ปี(2565-2567) ของการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างผลกระทบในทางบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งไทยและต่างประเทศ โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้ใช้งบลงทุนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ในการเพิ่มกำลังการผลิตทั้งในและต่างประเทศ และการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ

กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ TCP Sustainability Framework ของกลุ่มธุรกิจ TCP ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนใน 3 มิติ คือ Integrity กำกับดูแลกิจการอย่างรับผิดชอบและยกระดับความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน Quality พัฒนาคุณภาพสินค้า บริการ และคุณภาพชีวิตของพนักงานทุกคน Harmony ดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนไปพร้อมกับการทำงานในทุกขั้นตอน

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเผยว่า บริษัทได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 17% ในปี 2567 เทียบกับปีฐาน 2563 และตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 ภายใต้การขับเคลื่อนความยั่งยืนที่สำคัญ 3 ด้านขึ้นเป็นวาระเร่งด่วนขององค์กร ได้แก่ การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular  Economy) และการจัดการนํ้าอย่างยั่งยืน (Water Sustainability)

ผ่านกลยุทธ์ที่สำคัญได้แก่ ความเป็นเลิศของผลิตภัณฑ์ (Product Excellence) โดยตั้งเป้าหมายในปี 2567 มากกว่า 80 % ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ทั้งหมดผ่านเกณฑ์ผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพ มี 10 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ในไทยและต่างประเทศ สร้างแบรนด์ระดับโลกในต่างประเทศอย่างน้อย 5 แบรนด์

TCP ปักธง “ความยั่งยืน” ดันบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล 100%

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม TCP ต้องตอบโจทย์เรื่องสุขภาพและต้องเป็น Circular Economy ทุกบรรจุภัณฑ์สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปีพ.ศ. 2567 โดยจับมือกับพันธมิตรที่เป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก เพื่อสนับสนุนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคทั้งขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม และขวดพลาสติกเข้าสู่ระบบ กลับเข้ามาสู่วงจรการรีไซเคิล

ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% และสนับสนุนการเก็บกลับเข้าสู่ระบบ (Circular Economy) ทั้งหมดภายในปี 2567 และการจัดการนํ้าอย่างยั่งยืน (Water Sustainability) ที่ตั้งเป้าหมายคืนนํ้ากลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่านํ้าที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Net Water Positive) ทั้งในไทย จีน และเวียดนาม ภายในปี 2567 เทียบกับปีฐาน 2563

รวมถึงการตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) จากทุกกระบวนการทำงานในธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ ภายในปี 2593 ทั้งการลดใช้พลังงานในกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีส่วนร่วม การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนการใช้เครื่องจักรในกระบวนการผลิต การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน วางแผนระบบโลจิสติกส์เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงพิจารณาการใช้เชื้อเพลิงสะอาด และการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน

ตัวอย่าง เช่น บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลอุตสาหกรรม จำกัด (โรงงานปราจีนบุรี) มีการนำเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น กะลาปาล์มมาใช้ในระบบผลิตไอนํ้า และใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) ถึง 10% จากการใช้พลังงานไฟฟ้า ในปี 2564 สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ได้ 5,643,027.80 กิโลวัตต์-ชั่วโมง คำนวนปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้ 2,820.75 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ลดลงมากกว่าปี 2563 ถึง 108 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน คิดเป็น 70.50% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด เป็นต้น

รวมถึงโครงการอนุรักษ์พลังงานและโครงการการลดการใช้นํ้าต่าง ๆ ที่ดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น 1,998.85 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นายสราวุฒิ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และต้องเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งกลุ่มธุรกิจ TCP ได้เริ่มต้นจากภายในองค์กร และได้นำเรื่องความยั่งยืนมาเป็นหนึ่งในเคพีไอที่พนักงานจะทำให้เป็นปกติในการทำงาน เป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำจริง เช่นเดียวกับการหารือกับซัพพลายเออร์ และการผนึกกำลังกับภาคี เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งปีที่ผ่านมากลุ่ม TCP ได้เชิญซัพพลายเออร์เข้ามาร่วมหารือเพื่อกำหนด Action Plans ในการเดินหน้าลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินธุรกิจยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน

“ความร่วมมือที่จะทำให้ทุกอย่างเดินหน้าได้อย่างมีพลัง คือ ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐที่ต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นจริงได้ โดยพิจารณาปลดล็อค กฎหมายที่เป็นอุปสรรค เช่น กรณีบริษัททำโซลาร์รูฟท็อป เพื่อผลิตไฟฟ้ามาใช้ในการผลิต การร่วมมือกับซัพพลายเออร์ ที่นำองค์ความรู้และทรัพยากรของแต่ละคนมาแบ่งปัน เพื่อให้สามารถดำเนินการสู่เป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม”