ปี 2544 ถือเป็นช่วงที่พีคที่สุดของธุรกิจเพลง ด้วยมูลค่าตลาดที่สูงถึง 2.41 แสนล้านดอลลาร์ จากการเติบโตของธุรกิจเพลง Physical ที่สร้างเม็ดเงินมหาศาล ก่อนจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2546 และร่วงลงมาถึงจุดต่ำสุดโดยมีมูลค่าเหลือเพียง 1.42 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2557 แต่ 1 ปีให้หลัง ตลาดเพลงกลับมามีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นในปี 2558 จากยอดดาวน์โหลด ดิจิทัล สตรีมมิ่ง ดิจิทัลมิวสิค ที่เคยเป็นภัยคุกคามของวงการเพลงทำให้ยอดจำหน่ายเทป ซีดี ลดฮวบแทบไม่เหลือ เปลี่ยนบทบาทมาเป็นช่องทางทำเงิน
โดยเฉพาะ “สตรีมมิ่ง” ที่ครองส่วนแบ่งตลาดได้มากถึง 65% มีการเติบโต 24.83% แซงหน้าการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกที่มีอัตราการเติบโตเพียง 18.5% และส่งให้ในปี 2564 ธุรกิจเพลงสามารถกอบโกยและสร้างมูลค่าตลาดได้สูงถึง 2.59 แสนล้านดอลลาร์ และในปี 2566 นี้ ถือเป็นปีที่วงการเพลงไทยมีความคึกคักอย่างมากและถูกจับตามองอีกครั้ง
เมื่อ 2 ผู้นำในวงการเพลง อย่าง GMM ออกมาประกาศแผนรุกตลาดคอนเสิร์ตและมิวสิคเฟสติวัล ขณะที่ RS ก็รีเทิร์นกลับมาบุกตลาดเพลงอีกครั้ง หลังจากหายไปปั้นธุรกิจคอมเมิร์ซมาสักพักใหญ่ และยิ่งกว่านั้นคือ การพลิกจาก “คู่แข่ง” มาเป็น “พันธมิตร” ร่วมทุนกันตั้งบริษัทใหม่เพื่อเดินหน้าจัดคอนเสิร์ตร่วมกัน
“อุตสาหกรรมจะก้าวหน้าได้ ไม่ใช่การบอกว่าใครดีกว่าใคร แต่เป็นโอกาสที่ทำให้การบริโภคที่วันนี้เป็น Attention Economy ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรือภาพยนตร์ทุกคนต่างแย่งเวลาของผู้บริโภค ใครแย่งเวลาของผู้บริโภคได้เก่งที่สุดคนนั้นชนะ แต่การที่ GMM และ RS ร่วมมือกันเป็นการทำเพื่อผู้บริโภคและทำให้อุตสาหกรรมเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน เพราะต้องยอมรับว่าวันนี้หมดยุคของเทปและซีดีไปแล้ว ค่ายมีรายได้ผ่าน Digital platform และ Streaming”
“ภาวิต จิตรกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ยังบอกอีกว่า ตอนนี้ทุกค่ายขยับตัวมาทำ Showbiz Business, ทำคอนเสิร์ต ซึ่งในตลาดต่างประเทศอุตสาหกรรมดนตรีมีการเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ย 9-12%
แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่สามารถคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตที่แน่นอนได้ แต่เชื่อว่ามีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการเติบโตของศิลปินเองไม่จำเป็นจะต้องไปเกิดและเติบโตในต่างประเทศ เพราะการเติบโตของศิลปินไทยและเป็นที่รักของผู้ฟังในประเทศก็เพียงพอที่จะทำให้บริษัทเพลงเติบโตอย่างมหาศาล
“การส่งออกศิลปินไปเติบโตใน International ถ้าทำได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ทำให้อุตสาหกรรมเติบโตก้าวกระโดด แต่จริงๆแล้วแค่ตลาดไทยก็สามารถสร้างเม็ดเงินให้เติบโตได้ระดับพันล้าน ไม่จำเป็นที่เราจะต้องบู๊ตส์ T-POP และไป Global อย่างเดียว เพราะตอนนี้เรายังเติบโตได้อย่างดีงามปีต่อปี
หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาแล้ว และผู้บริโภคต่างประเทศก็สามารถบริโภคเพลงไทยผ่านดิจิตอลแพลตฟอร์ม ทำให้เราสร้างเม็ดเงินจากต่างประเทศได้อยู่แล้ว ส่วนอีกพาร์ทคือ การส่งออกศิลปินออกไปขึ้นคอนเสิร์ต หรือรับงานต่างประเทศ เชื่อว่าทุกค่ายต่างมีแผน เพียงแต่ต้องใช้เวลาในก้าวเดินไปให้ถึงจุดนั้นอย่างน้อย 3-5 ปี
เพราะทุกวันนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคไม่ได้แค่ฟังเพลงไทย แต่ฟังเพลงทั่วโลก เพราะฉะนั้นการที่จะต้องบุกไปตลาดต่างประเทศเพื่อทำเพลงก่อน ในมุมของแกรมมี่เราทำทุกรูปแบบและพร้อมเป็นพาร์ทเนอร์กับทุกอุตสาหกรรม การแข่งขันในตลาดมีค่ายเพลงเป็นร้อยที่ผ่านมาเราร่วมมือกับหลายๆคน ฝ่าย Music Festival เพราะเราไม่ได้มองว่าเป็นการแข่งขัน ท้ายที่สุดผู้บริโภคจะเป็นคนตัดสินว่า วันนี้จะให้เวลากับใครและจ่ายเงินให้กับใคร”
หากให้ประเมินถึงอุตสาหกรรมเพลงในเมืองไทยปีนี้ “ภาวิต” บอกว่า มีโอกาสสูงที่ตลาดจะเติบโตขึ้นจากการขยายตัวของเม็ดเงินในตลาดโชว์บิซ ซึ่งเดิมมีมูลค่าตลาดราว 5,000 ล้านบาท ขณะที่คอนเสิร์ตไทยมีมูลค่าตลาดราว 2,500 ล้านบาท เติบโต 10% หรือกว่า 200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแน่นอนว่า มาจากคู่แข่งในเซ็กเมนต์เดียวกันที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาด และทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมเติบโตขึ้น
ขณะที่ GMM ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้เติบโต 25% หรือ 3,800 ล้านบาท นอกจากโหมคอนเสิร์ต Music Festival งานแฟนมีตติ้งและผลงานเพลงใหม่ๆแล้ว การ Joint Venture กับ RS จัดงานคอนเสิร์ตร่วมกัน 3 ปีต่อเนื่องปีละ 3 คอนเสิร์ต เชื่อว่า จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ตลาดเติบโต และแสดงให้เห็นว่าทั้ง GMM และ RS เปิดกว้างที่จะร่วมมือกับทุกคน
ส่วนมุมมองของ “วิทวัส เวชชบุษกร” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการ กิจการร่วมค้า อะครอส เดอะ ยูนิเวิร์ส แสดงความคิดเห็นว่า การจับมือกันของแกรมมี่และอาร์เอส ส่วนหนึ่งเป็นการส่งเสริมและสร้างให้ศิลปินไทย สร้างกระแส และสร้างความนิยมให้กับศิลปินไทย แม้จะเป็นศิลปินที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วก็ตาม
แต่เชื่อว่าศิลปินเหล่านี้จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินไทยรุ่นใหม่ ให้รู้จักพัฒนาตัวเอง และสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองขึ้นมา ปรากฏการณ์ครั้งนี้จะเป็นจุดเล็กๆ ที่อาร์เอสจะต่อยอดให้อุตสาหกรรมเพลงไทยหรือศิลปินไทยให้มีความนิยมมากขึ้นได้รับการยอมรับและได้ฐานแฟนคลับในเมืองไทยมากขึ้นและสร้างกระแสให้คนไทยหันกลับมานิยมเพลงไทยอีกครั้ง
“ในมุมของ RS เราไม่ได้มองว่า นี่คือการแข่งขันกับค่ายเพลงอื่นหรือแกรมมี่ ปัจจุบันธุรกิจเพลงเป็นการเสิร์ฟผู้บริโภคและคนฟังว่ามีความชอบแบบไหน มีกระแสดนตรีแบบไหนที่อยากจะฟัง นั่นคือสิ่งที่เราพยายามที่จะป้อนคนดู คนฟังหรือแฟนๆของเรามากกว่า เพราะฉะนั้นในมุมมองของการทำเพลงออกมาเพื่อ Battle กับใครไม่ได้อยู่ในแผนของเรา ส่วนในเรื่องของการพัฒนาศิลปินไม่ว่าจะเป็นศิลปินเก่าหรือศิลปินใหม่ เราตั้งเป้าการสร้างแอสเซทในอนาคตมากกว่า
ส่วนการจะโกอินเตอร์หรือไม่อยู่ที่หลายๆองค์ประกอบทั้งในส่วนของตัวศิลปินเองจะต้องมีความสามารถระดับหนึ่ง มีฐานแฟนเพลงระดับหนึ่ง และต้องมี Partnership เข้ามาช่วย แต่จากการอยู่ในวงการนี้มานาน มองว่ามีโอกาสและเราก็เปิดโอกาสในการร่วมงานกับพันธมิตรที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ เพื่อต่อยอดสู่โอกาสทางธุรกิจหรือโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ในรูปแบบอื่นๆ ในอนาคต และตอนนี้เราอยู่ในระหว่างการหารือกับพันธมิตรต่างประเทศคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงภายในไตรมาสที่ 2 นี้”
อย่างไรก็ดีการกลับมาโฟกัสธุรกิจเพลงอีกครั้งของ RS เชื่อว่าจะทำให้บริษัทเติบโตและมีรายได้แตะ 5,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ทั้งจากธุรกิจเพลง อีเว้นท์ คอนเสิร์ต วิทยุและธุรกิจคอมเมิร์ซ การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มฉายภาพชัดเจนขึ้นในอุตสาหกรรมเพลง จะทำให้แลนด์สเคปนี้เป็นอย่างไร ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด แต่ที่แน่นอนอย่างหนึ่งคือ ภาพของการเป็นคู่แข่งจะค่อยๆ เลือนหายไป เช่นเดียวกับคำว่า “ผูกขาด” แต่เป็นการจัดสรรแบ่งปันรายได้อย่าง win win
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,880 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2566