ตลาด Cold chain logistics หรือระบบคลังสินค้าและขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิของไทย มีมูลค่าราว 2.6 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโต 8% CAGR ในอีก 3 ปีข้างหน้า จากการขยายตัวของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การให้บริการคลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิยังทำกำไรขั้นต้นเฉลี่ยสูงกว่าการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ 15%
ปัจจุบัน Cold chain logistics มีมูลค่าตลาดราว 2.6 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตราว 8%CAGR จากปี 2019 ถึงปี 2022 มีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม cold chain logistics หรือระบบการขนส่งและคลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิถูกพัฒนาและนำมาใช้มากยิ่งขึ้นกับกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแทนระบบโลจิสติกส์ทั่วไป เพื่อรักษาคุณภาพและลดอัตราการเสียของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ อาหารทะเล อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์จากนม
มูลค่าตลาด cold chain logitics ของไทย
มูลค่าตลาด cold chain logitics ของไทยในปี 2018 อยู่ที่ประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท หรือมีสัดส่วนประมาณ 5% ของตลาดโลจิสติกส์ทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่มูลค่าตลาด cold chain logistics มีสัดส่วนเพียง 2% ทั้งนี้ความต้องการใช้บริการ cold chain logistics ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องราว 8%CAGR ในอีก 3 ปีข้างหน้า (2019-2022)
มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากปริมาณการส่งออกผลไม้ไปยังตลาดจีนที่เติบโตแบบก้าวกระโดด การกลับมาฟื้นตัวของการส่งออกอาหารทะเลจากการปลดล็อกใบเหลือง IUU Fishing รวมถึงการขยายสาขาอย่างรวดเร็วของธุรกิจร้านสะดวกซื้อและแฟรนไชส์ร้านอาหาร
การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า Cold chain logistics ประกอบด้วย 2 เซกเมนต์หลักคือ คลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ และการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ โดยการให้บริการคลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ มีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยสูงกว่าการขนส่งสินค้าราว 15%
ขณะที่คลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิที่มีสัญญาระยะยาวมีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยถึง 40% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดและอัตราค่าเช่าพื้นที่ปรับตัวสูงขึ้นราว 5% ต่อปี ขณะที่ต้นทุนการดำเนินการหลักอย่างอัตราค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย
ขณะที่บริการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิที่มีพันธมิตรทางธุรกิจมีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยราว 24% และมีแนวโน้มลดลงจากการแข่งขันด้านราคา รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน ซึ่งการให้บริการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิมี 2 รูปแบบหลัก
คือ การให้บริการขนส่งส่วนใหญ่แก่พันธมิตรธุรกิจ (มากกว่า 70%) และการให้บริการขนส่งแก่ลูกค้าทั่วไป โดยผู้ประกอบการที่มีพันธมิตรทางธุรกิจจะมีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 24% ซึ่งสูงกว่าผู้ประกอบการที่รับจ้างขนส่งสินค้าให้กับลูกค้าทั่วไปที่มีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 6%
อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยของการให้บริการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากธุรกิจนี้ใช้เงินลงทุนไม่สูงมากนักผู้เล่นรายใหม่สามารถเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้ไม่ยาก และการขนส่งสินค้าส่วนใหญ่มีการเจรจาสัญญาใหม่ทุก 1 ปี จึงส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงมีการตัดราคาค่าบริการ อีกทั้งผู้ประกอบการต้องรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันที่มีสัดส่วนราว 30%-40% ของต้นทุนการให้บริการขนส่ง
อย่างไรก็ตามปัจจุบันกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มหันมาใช้บริการ cold chain logistics จากผู้ประกอบการโลจิสติกส์มากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจ โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10% ของค่าใช้จ่ายด้านการขายทั้งหมด เมื่อความต้องการด้านโลจิสติกส์ปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบ cold chain ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและเม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง
ทั้งการสร้างคลังสินค้า การจัดซื้อรถขนส่งสินค้า รวมถึงการลงทุนด้านไอทีในการควบคุมระบบความเย็นให้มีเสถียรภาพ เป็นผลให้กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มหันมาใช้ผู้ประกอบการ cold chain logistics ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาบริหารจัดการมากขึ้น เพื่อลดขั้นตอนการทำงานและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์
การใช้บริการ cold chain logistics สำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มพบมากใน 2 รูปแบบ
1. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเองจับมือกับผู้ประกอบการโลจิสติกส์จัดตั้งบริษัทในรูปแบบพันธมิตรธุรกิจเพื่อให้บริการ cold chain logistics แบบครบวงจรกับกลุ่มธุรกิจในเครือแล้วจึงขยายการให้บริการไปสู่ธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน
2. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มใช้บริการจากผู้ให้บริการ cold chain logistics ในรูปแบบ outsource ซึ่งการใช้บริการ cold chain logistics
ทั้ง 2 รูปแบบเป็นโอกาสของผู้ประกอบการโลจิสติกส์เดิมและผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ต้องการก้าวเข้าสู่ธุรกิจ cold chain