นายเพชร หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืช “กุ๊ก” ภายใต้กลุ่มพูลผล เปิดเผยว่า กลุ่มพูลผล ปัจจุบันมีแบรนด์สินค้าในกลุ่มของอาหารที่โดดเด่นคือ น้ำมันพืชกุ๊ก ภายใต้ บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด และ วุ้นเส้นตราต้นสน ภายใต้บริษัท สิทธินันท์ จำกัด โดยดำเนินการภายใน 3 ส่วนหลักคือ Food -Feed - Inovation
ประกอบไปด้วย Food ได้แก่ “น้ำมันพืชกุ๊ก” ปัจจุบันมีสินค้า 3 ชนิดคือ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน น้ำมันคาโนลา ในส่วนของ Feed ได้แก่ บริษัทขายกากถั่วเหลืองเป็นส่วนผสมหลักของอาหารสัตว์ และสินค้า Inovation ซึ่งปัจจุบันมีโรงแป้งมันสำปะหลังแปรรูป 3 แห่งเพื่อส่งออกแป้งมันสำปะหลังแปรรูปส่งออกไปมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก
นอกจากจะเป็นฟิวเจอร์ฟู้ดแล้วบริษัทยังสามารถโมดิฟายแป้งมันสำปะหลังให้มีคุณลักษณะต่างๆได้เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมอาหาร เสื้อผ้า กระดาษรวมถึงไบโอพลาสติกในรูปแบบหลอดพาสติก หรือถุงพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้
ขณะที่ในตลาดน้ำมันพืช ปัจจุบันตลาดน้ำมันพืชแบบขวดมีมูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นน้ำมันปาล์ม 60% น้ำมันถั่วเหลือง 25- 30% และอื่นๆ 10% อาทิ น้ำมันรำข้าว น้ำมันทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด ฯลฯ โดย “น้ำมันพืชกุ๊ก” มีส่วนแบ่งการตลาด 25-30% เป็นอันดับ 2 ของตลาด แม้ภาพรวมการแข่งขันจะไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาด แต่ยังถือว่ามีการแข่งขันค่อนข้างสูงทั้งด้านราคาและคุณภาพ
บวกกับภาพรวมการส่งออกที่ยังไม่ค่อยดีจากผลกระทบเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังซบเซาและเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ค่าพลังงาน ประกอบกับในช่วงโควิดหลายประเทศมีการกักตุนสินค้าจำนวนมาก ทำให้ในปีนี้ยอดการสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง แต่ที่ผ่านมาบริษัทปรับราคาขายลงเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อที่ลดลงและกระตุ้นให้คนใช้จ่ายมากขึ้นส่งผลให้ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา “น้ำมันพืชกุ๊ก” มียอดขายลดลงแต่ยังคงใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามปีนี้ยังมีปัจจัยบวกจากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับลดลง บวกกับในช่วงไตรมาสที่ 4 เรียลดีมานด์ของการส่งออกจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งโอกาสในการขยายตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนเข้ามาช่วยเสริม และคาดว่าในปีนี้บริษัทจะสามารถสร้างการเติบโตได้ 10% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
สำหรับในปีนี้ บริษัทได้นำน้ำมันพืชกุ๊กและวุ้นเส้นตราต้นสน ร่วมนำเสนอสินค้าและนวัตกรรมภายในงาน THAIFEX - ANUGA ASIA 2023 เพื่อให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์กุ๊กและต้นสนมากขึ้น และหวังว่าจะสามารถขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ทั้งนั้นในประเทศและต่างประเทศได้เพิ่มเติม
“ตอนนี้เรามีโอกาสที่ขยายตลาดในอาเซียนได้ในลักษณะของ B2B เพราะในอาเซียนมีโรงงานที่สามารถสกัดน้ำมันถั่วเหลืองขนาดใหญ่แค่ประเทศไทยที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและเวียดนามเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราสามารถใช้ประเทศไทยเป็นฐานการส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั้งเวียดนาม เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เพิ่มจากตอนนี้ที่ส่งไปยัง กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์”
ในปีนี้บริษัทเตรียมงบลงทุนราว 500 ล้านบาทในการพัฒนาโรงงานและเครื่องจักรภายใน 2 ปี เพื่อปรับปรุงการผลิตให้ดีขึ้นและลดต้นทุนทั้งในส่วนค่าแรงคนงานและค่าไฟฟ้าและใช้เทคโนโลยีและพลังงานเข้ามาช่วยบางส่วน
ด้านนางพรรณา ปัญจวีณิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิทธินันท์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายวุ้นเส้นตราต้นสน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันตลาดวุ้นเส้นมีมูลค่าราว 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเซกเม้นท์วุ้นเส้นแห้งกับวุ้นเส้นสด ซึ่งวุ้นเส้นต้นสนเป็นเบอร์ 1 ของตลาดของเส้นแห้ง มีส่วนแบ่งตลาดราว 50%
ในพอร์ตของบริษัทสิทธินันท์ มีธุรกิจหลัก 2 ส่วนคือ ธุรกิจวุ้นเส้นแห้ง 3 แบรนด์ได้แก่ วุ้นเส้นตราต้นสน,วุ้นเส้นตราต้นถั่วและวุ้นเส้นตราต้นไผ่ สัดส่วน 80% และธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง และแป้งถั่วเขียว จำหน่ายในลักษณะ B2C และธุรกิจ OEM ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวและเส้นหมี่ 20%
ทั้งนี้ต้นสนเป็นแบรนด์วุ้นเส้นที่ผลิตโดยใช้แป้งถั่วเขียว 100% ถือเป็นฟิวเจอร์ฟู้ดเพราะดัชนีน้ำตาลต่ำ (low GI), ไม่มี Gluten, ไม่ดัดแปลงพันธุกรรม (Non GMO) นอกจากนี้บริษัทยังพัฒนานวัตกรรมสินค้า “วุ้นเส้นไม่ฟอกสี” ที่ยังคงคลอโรฟิลล์จากเปลือกถั่วไว้ได้เพื่อตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ
อย่างไรก็ตามจากนี้ไปบริษัทจะให้ความสำคัญกับสินค้านวัตกรรมมากขึ้น เริ่มจากปีนี้บริษัทได้ดำเนินการเรื่องคาร์บอนฟรุตปริ้นท์ตลอดซัพพลายเชน ทำให้ต้นสนเป็นวุ้นเส้นรายแรกของโลกที่มีคาร์บอนฟุตปริ้นท์ และสามารถส่งออกสินค้าไปยังยุโรปได้ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเริ่มทยอยส่งออกไปยังยุโรปและประเทศอื่นๆเพิ่มเติมจากตลาดส่งออกหลักเดิมในออสเตรเลีย อเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกราว20% และขายในประเทศ 80%
นอกจากนี้กระแสรักสุขภาพทำให้เทรนด์ Super Food และ Future Food ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในปี 2567 บริษัทจะเปิดตัวสินค้านวัตกรรมอินกรีเดี้ยนสำหรับอุตสาหกรรมแพลนต์เบส (Plant-based) ซึ่งจะมาทดแทนเนื้อสัตว์ที่มีน้อยลงและเป็นโรคในอนาคต รวมทั้งหันมาหาโปรตีนทดแทนเพื่อสุขภาพ
“หลังจากนี้แบรนด์ต้นสนจะมีสินค้านวัตกรรมใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ภายในสิ้นปีนี้เราจะออกสินค้าพร้อมทาน /กึ่งสำเร็จรูปในรูปแบบถ้วย 2-3 รสชาตินำร่อง จากก่อนหน้านี้ได้ออกในรูปแบบซองซึ่งอาจไม่สะดวกต่อผู้บริโภค ส่วนแพลนต์เบส คาดว่าจะเริ่มผลิตและจำหน่ายในปีหน้า เพราะต้องสร้างโรงงานและลงเครื่องจักรใหม่ โดยใช้งบลงทุนหลักร้อยล้านและคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในสิ้นปีนี้
เบื้องต้นเราจะขายเป็นอินกรีเดี้ยนให้กับโรงงานผลิตแพลนต์เบสในต่างประเทศ ก่อนจะขยายตลาดในประเทศให้กับบริษัทที่นำเข้าโปรตีนเพื่อผลิตแพลนต์เบส และในอนาคตเราอาจแตกไลน์เป็นสินค้าแพลนต์เบส ภายใต้แบรนด์ของเราเองเพราะเรามีโรงแป้งที่สามารถโมดิฟายแป้งให้เข้ากับวัตถุดิบในการทำแพลนต์เบสได้”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,891 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566