นายเพชร หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชกุ๊ก เปิดเผยว่า น้ำมันพืชกุ๊กนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG Economy Model) มาปรับใช้ในองค์กร ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่เร่งให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างทั่วถึงบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมใน 3 ด้านควบคู่กันไป ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
ทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้จะอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน ตอบรับพันธกิจของบริษัทที่มุ่งเสริมการผลิต และการบริโภคอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการใน 3 ด้านหลัก
ประกอบด้วยพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงาน กระบวนการผลิตและทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้, การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กร
“การนำโมเดล BCG มาใช้ในองค์กรนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยเป้าหมาย ทำอย่างไรจะสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโต ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ”
ทั้งนี้ในด้าน Circular Economy บริษัทได้มีการรณรงค์การคัดแยกขยะให้กับพนักงาน และชุมชนรอบข้าง และจัดกิจกรรมส่งเสริมในการคัดแยก และเก็บรวบรวมขวด PET เพื่อนำกลับไปใช้ในการผลิตเสื้อพนักงาน (Upcycling) เป็นต้น ล่าสุดได้มีการจัดทำโครงการจัดการเศษขยะอาหาร ร่วมกับ Food Loss Food Waste โดยการนำขยะเศษอาหารมาเป็นอาหารของหนอนแมลงวันลาย (แมลงที่ไม่นำโรค และไม่เป็นศัตรูพืช) และเข้าสู่วงจรการกำจัดเศษอาหารอย่างไม่รู้จบ
ด้าน Green Economy ทางบริษัทเน้นการเลือกใช้เทคโนโลยีที่รักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ Multi Biomass แทน Heavy Oil โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงทางเลือก แทนน้ำมันปิโตเลียม การนำเทคโนโลยี Ice Condensing Vacuum System และ Oil Winterization มาใช้ในกระบวนการกลั่นน้ำมันพืช ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานและระยะเวลาในการกลั่น ตลอดจนการนำ Nano Neutralization & Combined clean ลดปริมาณการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต และลดปริมาณการเกิดน้ำเสีย โดยนำน้ำเสียมาบำบัดกลับมาใช้ในโรงงาน และการติดตั้ง Solar cell ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้ในโรงงาน เป็นต้น
“การนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ในองค์กรนั้น ได้สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นกับบริษัทอย่างเป็นรูปธรรม หนึ่งในผลลัพธ์ที่ชัดเจนคือ การได้รับรางวัล Green Industry ระดับ 5 จากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันทั้งประเทศมีบริษัทที่ได้รับรางวัล Green Industry ระดับ 5 ทั้งหมด 20 บริษัท 57 ใบรับรอง และบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตน้ำมันพืชรายแรก และรายเดียวที่ได้รับรางวัลนี้”
นายเพชร กล่าวอีกว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะมุ่งสู่องค์กรที่เป็น Zero Carbon Emission โดยนำหลักการของ BCG มาปรับใช้ เช่น การจัดทำ Carbon footprint ผลิตภัณฑ์ และ Carbon footprint องค์กร ทำให้บริษัทมีการนำเทคโนโลยีที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตน้ำมันถั่วเหลืองกุ๊ก 1 ลิตร จาก 1.22 กิโลกรัมในปี พ.ศ. 2555 เหลือเพียง 620 กรัมในปี พ.ศ. 2563 เป็นต้น
“โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรจึงจะใช้ประโยชน์จาก waste ได้มากที่สุด และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม BCG Economy Model จึงเป็นโมเดลที่ช่วยสนับสนุนในการดำเนินงานของบริษัทได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้าน Circular Economy และ Green Economy”