นางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) เปิดเผยว่า สิ่งที่เราอยากจะนำเสนอไปถึงรัฐบาลเป็นพิเศษ คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม สิ่งสำคัญคือจะต้องสร้างวัฒนธรรมในการดื่มอย่างถูกต้อง ในต่างประเทศมีการดื่มค่อนข้างเยอะ แต่ไม่สร้างปัญหาเพราะประชาชนได้รับการศึกษา อบรมและตระหนักโทษภัยจากการดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจุบันประเทศที่มีการผลิตสุราเป็นอันดับต้นๆ ของโลกคือ โซจูของเกาหลีและสาเกของญี่ปุ่น ซึ่งมีการดื่มเยอะมากแต่อัตราการเกิดอันตรายน้อยมาก
สำหรับพ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ทางสมาคมมองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีในภาคของผู้ผลิต เพราะเชื่อในการแข่งขันอย่างเสรี ทุกคนจะต้องมีสิทธิและมีแพลตฟอร์มที่เท่าเทียมกันในการประกอบธุรกิจ สุราก้าวหน้าจะให้ผลดีกับผู้ประกอบการที่เป็นรายย่อยหรือสุราชุมชน เหมือนในเกาหลีหรือญี่ปุ่นที่มีสุราหลายฉลาก
แปลว่าผู้ประกอบการสามารถควบคุมการผลิตได้เป็นอย่างดีและกลายเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงผลิตภัณฑ์หรือตั้งแต่รากหญ้าไปจนถึงผู้บริโภค ทุกอย่างมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจขึ้นมา จนถึงการท่องเที่ยวกลายเป็น Soft Power เช่น ไปญี่ปุ่นจะต้องไปเยี่ยมชมการทำสาเก ไปเกาหลีจะต้องไปเยี่ยมชมสถานที่ทำโซจู
ถ้าในประเทศไทยสามารถทำได้แบบนั้นจะเป็นการสะท้อนภูมิปัญญาและวัฒนธรรมพื้นบ้าน และจะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ต่อยอดมูลค่าเพิ่ม และจะช่วยในส่วนของการพัฒนาการผลิตให้มีมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้นและปลอดภัยตาม ESG และรัฐบาลอาจจะช่วยส่งเสริมคือ ให้ความรู้ในการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบไปพร้อมๆกัน
แต่อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลใหม่ต้องการออกพ.ร.บ.นี้ ควรจะต้องกลับไปพิจารณา การควบคุมการโฆษณาให้สอดคล้องกัน เช่นภาษีของสรรพสามิตพูดถึงเรื่องของกระบวนการผลิตการนำเข้า ส่วนพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พูดถึงในเรื่องกิจกรรมในการขาย เมื่อผลิตแล้วแต่ขายไม่ได้ผู้ประกอบการก็จะลำบาก เพราะแนะนำสินค้าไม่ได้
แม้แต่การให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่อาจจะใช้ดุลยพินิจหรือตีความว่าเป็นการโฆษณาได้นั่นคือ “อุปสรรค” ดังนั้นการปลดล็อคการโฆษณาเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน อีกส่วนคือแม้แต่ผู้ประกอบการที่นำเข้าก็ไม่สามารถแนะนำสินค้าได้ ซึ่งกฎหมายนี้ค่อนข้างคลุมเครือในปัจจุบันและถูกตีความอย่างกว้างขวาง
“มองว่ากฎหมายที่ดีจะต้องไม่ถูกตีความ จะต้องเข้าใจชัดเจนในตัวและจะต้องเอื้อทางเศรษฐกิจด้วยไม่ใช่การตีความอย่างสุดโต่ง เกินจำเป็นและสร้างความเดือดร้อนเกินไป ในส่วนของความกังวลเรื่องของทุนต่างชาติที่อาจจะเข้ามา ก็ต้องอยู่ที่หน่วยงานภาครัฐแต่เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องสนับสนุน Soft Power ของตัวเอง สนับสนุนวัฒนธรรมและส่งเสริมรากหญ้าสินค้าท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นให้สามารถเติบโตได้ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิตหรือนวัตกรรมและคุณภาพของสินค้า”
นอกจากนี้สิ่งที่ควรทำคือการทบทวนภาษี เพราะมองว่าผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ไม่ว่าจะประเภทใด ก็คือแอลกอฮอล์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องเหมาะสมกับบริบทของสังคมและผลิตภัณฑ์จะต้องมีความเท่าเทียม และจะต้องไม่กระตุ้นให้เกิดความต่างด้านราคาระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านจากการกระตุ้นของอัตราภาษีที่มากไป ซึ่งนอกจากรัฐจะไม่สามารถจะเก็บรายได้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสุรา หรือสินค้าผิดกฎหมาย
อีกประเด็นก็คือการจำหน่ายผ่านออนไลน์ ซึ่งอยู่ในพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเรื่องวิธีการขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ หรือห้ามขายออนไลน์โดยอ้างว่าป้องกันเด็กและเยาวชน ไม่ให้เข้าถึงได้โดยง่าย ประเด็นนี้มองว่าการขายออนไลน์สามารถตรวจสอบกลับได้ตั้งแต่ต้นทาง เพราะผู้ซื้อต้องลงทะเบียนใช้แพลตฟอร์ม ชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ซึ่งสามารถตรวจสอบว่าผู้ซื้ออายุเท่าไร ซื้อเวลาใด หรือส่งในเวลาที่กำหนดหรือไม่ ได้ทุกขั้นตอน เปรียบเทียบกับการเดินไปซื้อ ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้
“ขณะเดียวกันสมาคมฯ ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ที่เน้นย้ำในเรื่องของการห้ามดื่มในเวลาที่ห้ามขาย เพราะมองว่าการห้ามขายก็ไม่สมเหตุสมผลกับสภาพการณ์ปัจจุบันอยู่แล้ว นอกจากจะไม่สมเหตุสมผลแล้วยังมีการเพิ่มโทษ ซึ่งมีความสำคัญ คือ ต้องเคารพสิทธิของผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ ตอนนี้กฎหมายที่เสนอมาแต่ละฉบับค่อนข้างค้านกับบริบทของบ้านเรา เพราะบ้านเราเป็นเมืองท่องเที่ยว ตั้งแต่เพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไปถึงการท่องเที่ยวกลางคืน ที่ผ่านมามีการเสนอให้เปิดโซนนิ่งพื้นที่ท่องเที่ยวกลางคืนจนถึงตี 4 ซึ่งสมเหตุสมผลเพราะนักท่องเที่ยวก็อยากทำได้หลายๆกิจกรรม แต่การห้ามขาย ห้ามดื่มก็ทำให้การท่องเที่ยวหมดความน่าสนใจ และทำให้บรรยากาศท่องเที่ยวดูคึกนักน้อยลง
อย่างไรก็ตามเราจะต้องมีความเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ต่อไปทุกสิ่งจะสามารถตรวจสอบได้และได้รับการเปิดเผยทั้งการจัดเก็บภาษีต่างๆ ขณะเดียวกันบทลงโทษไม่จำเป็นต้องเพิ่มแต่จะต้องบังคับใช้และอีกอย่างหนึ่งคือ ที่เราเน้นมากก็คือการให้ความรู้เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่น Standard Drink”
ด้านนายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การเดินหน้านโยบายสุราเสรี เชื่อว่าในส่วนของอุตสาหกรรมเบียร์ไม่น่ามีปัญหา เพราะวัตถุดิบในการผลิตส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบนำเข้าทั้งมอลต์ ยีสต์ ซึ่งไม่ได้มีผลโดยตรงกับเกษตรกรไทย ส่วนที่มีปัญหาคือ “สุรา” ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรไทยเพราะใช้ข้าวไทยในการกลั่นสุรา โดยกฎกระทรวงที่ออกมาล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วยังไม่ได้เอื้อรายย่อย เพราะฉะนั้นอาจต้องให้น้ำหนักกับสุรามาก โดยเฉพาะการพัฒนาในรูปแบบคราฟท์สุราโดยอาศัยโมเดลของคราฟท์เบียร์เป็นตัวต่อ เพราะคราฟท์เบียร์พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถยกระดับเบียร์ให้มีราคาสูง สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้ดี
ขณะที่ “พอลลีน แบสติดอน” ผู้อำนวยการองค์กรกิจการการค้าและเศรษฐกิจ กลุ่มสุราและไวน์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าววว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่นับเป็นนิมิตหมายที่ดี และหากมีรัฐบาลใหม่สิ่งที่สามารถทำได้คือการเข้ามาระบุปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน เมื่อรู้และเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะสามารถเข้ามาแก้ไขจัดการได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานคือเรื่องภาษีสุราที่มีราคาสูง และทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อเกิดขึ้นและการที่ตั้งภาษีสูง ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เป็นแรงจูงใจในการนำเข้าสุราแบบผิดกฏหมาย
รัฐบาลควรจะเข้ามาประสานงานกับผู้ประกอบการ และภาคเอกชนอย่างจริงจัง เพื่อมาคำนวณภาษีให้อยู่ในอัตราที่สมเหตุสมผล ขอยกตัวอย่างประเทศบราซิล ที่ยอมลดภาษีสุรา เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านคุณภาพของสุรา หากเป็นการนำเข้าที่ผิดกฏหมายสุราอาจจะไม่ได้รับการตรวจสอบที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความเสี่ยงของการนำเข้าสุราที่ผลิตออกมาไม่ได้มาตรฐานและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ดื่มได้อีกด้วย
“สุราก็คือสุรา ดังนั้นไม่ควรมีการเก็บภาษีแตกต่างกันตามแต่ละประเภท เพราะนอกจากภาษีสุราแล้ว ผู้นำเข้าส่งออกยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นการตั้งภาษีสุราให้เป็นมาตรฐานเดียวกันจะช่วยผู้ประกอบการได้ และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสุราที่มีคุณภาพดีขึ้น”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,896 วันที่ 15 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2566