การออกจดหมายเชิญเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่... พ.ศ. ....) โดยกรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเปิดรับฟังความคิดของประชาชน ในระหว่างวันที่ 1-18 มิถุนายน 2566 โดยมีประเด็นที่จะรับฟัง 7 ประเด็น ได้แก่
1. กำหนดเวลาห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่หรือบริเวณที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ในกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2. กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบ ดำเนินงานในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่หรือบริเวณที่จัดบริการเพื่อให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ทางการค้า ที่จะต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือแจ้งควบคุมดูแล ห้ามปราม หรือดำเนินการอื่นใด เพื่อไม่ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. กำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบฯ ที่ได้ดำเนินการตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไม่ต้องรับผิด
4. กำหนดให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบหรือควบคุมเท่าที่จำเป็นในกรณีที่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าน่าจะมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย
5. กำหนดโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับผู้ฝ่าผืนที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบฯ ที่ไม่ดำเนินการตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด
6. กำหนดโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท สำหรับผู้ประกอบการ เจ้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่มีหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ
7. กำหนดโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท สำหรับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา โดยไม่มีเหตุอันสมควร
การเปิดรับฟังดังกล่าว กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อถูกมองว่าเป็นการปิดกั้น ลิดรอนสิทธิ์การดำเนินธุรกิจ ของผู้ประกอบการทั้งในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง และยังเป็นการย้อนแย้งกับนโยบาย “สุราเสรี” ของรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเปิดให้แสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่... พ.ศ. ....) โดยสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีหลายประเด็นที่ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ์ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ
ประเด็นแรกได้แก่ การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. และหลังเที่ยงคืน ซึ่งเดิมเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาห้ามจำหน่ายแต่ที่ผ่านมาให้ดื่มได้ หากผู้บริโภคนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเอง ซึ่งการห้ามจำหน่ายและห้ามดื่มในเวลาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อร้านอาหารโรงแรม และแหล่งท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ไม่สามารถดื่มได้ จึงไม่เห็นด้วย
ประเด็นที่ 2. การออกกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้น เอาผิดในเรื่องของการห้ามจำหน่าย ให้กับเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามจำหน่ายในสถานที่ที่กำหนด เข้าไปตรวจค้น เวลาใดก็ได้ ซึ่งโดยหลักของกฎหมาย อำนาจในการเข้าไปในสถานที่ต่างๆ 1 ต้องใช้หมายค้น และต้องไปในเวลาที่กำหนด คือ ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก แต่กฎหมายใหม่เพิ่มอำนาจให้สามารถเข้าไปในเวลาใดก็ได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง
ประเด็นที่ 3. การออกกฎหมาย ห้ามทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) หรือจะพูดถึงภาพลักษณ์ การสื่อสารการตลาด ซึ่งในอนาคตอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมหรือคืนกำไรให้กับผู้บริโภคไม่ได้
ประเด็นที่ 4 เพิ่มกฎหมาย ห้ามโฆษณาโดยเด็ดขาด ซึ่งย้อนแย้งกับเรื่องนโยบายสุราเสรี ที่รัฐบาลใหม่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมสุรา ให้เติบโตเช่นเดียวกับในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ที่ส่งเสริมธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการสร้างให้คนมีความรู้ และมีวินัย
“มองว่า การเพิ่มหรือแก้กฎหมายต่างๆ ข้างต้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องของผู้ก่อปัญหาจากการดื่มแอลกอลฮอล์เลย ซึ่งการแก้ปัญหาจริงๆ คือการไปบังคับใช้กฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งหากบังคับใช้ได้ผล ต่อให้ร้านค้า ซึ่งอยู่ใกล้สถานศึกษา เมื่อผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีมาก็ซื้อไม่ได้เพราะห้ามขาย แต่ทุกวันนี้มีแอบขาย”
ทั้งนี้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดทำขึ้นเพราะ 1. ต้องการลดปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่เมื่อห้ามจำหน่าย ห้ามดื่ม ห้ามโฆษณา ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ รวมถึงด้านการท่องเที่ยว 2. ลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งที่ผ่านมาบทลงโทษน้อย ทำให้นักดื่มไม่หวาดกลัว จึงควรเพิ่มโทษให้มากขึ้น 3.สร้างความตระหนักรู้และลดปัญหาการดื่มก่อนวัยอันควร ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปให้ความรู้ สร้างการตระหนักถึงโทษ อย่างจริงจังและยั่งยืน
“การผลักดันให้เกิดสุราเสรี โดยออกกฎหมายอนุญาตให้ผลิตสุราได้ แต่คุณจะบอกผู้บริโภคว่า สุราคุณคืออะไร ผลิตจากอะไรไม่ได้ เพราะผิดกฎหมายเข้าข่ายโฆษณา แล้วสุราคุณจะได้เกิดมั้ย ไม่มีทางที่ผู้บริโภคจะได้รู้จักชื่อสินค้าคุณ บนฉลากก็ห้าม แต่แท้จริงฉลากจะเป็นตัวบอกสินค้าได้เมื่ออยู่บนเชลฟ์ คนจะเห็นฉลากได้ก็เฉพาะคนที่ต้องการไปซื้อ เท่านั้น จะกีดกันไปทำไม”
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีร่าง พระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่... พ.ศ. ....) ที่เกิดขึ้นแล้ว 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างฯ ของภาคประชาชนและเอกชน และร่างฯของเอ็นจีโอ และร่างฯ ของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้จะนำร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อให้ผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
“อยากฝากว่าการแก้ร่าง กฎหมายต้องอยู่ภายใต้หลักธรรมภิบาล ซึ่งหลักธรรมภิบาล เสาหลัก คือการมีส่วนร่วม ซึ่ง 1 ในการรับฟังคือการมีส่วนร่วมเหมือนกัน แต่เวลาออกกฎหมายคุณไม่ฟัง ในภาคที่เขามองเห็นต่าง แต่คุณมีธงอยู่แล้ว และเลือกที่จะเดินตามธงนั้น แม้ที่ผ่านมาจะมีผลการศึกษาจากหลายหน่วยงาน เห็นว่าไม่เหมาะสม และควรยกเลิก เพราะมองถึงภาคเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย แต่ก็ยังมีผู้เสนอกฎหมายสุดโต่งมา เพื่อให้ต่อรองคนละครึ่งทาง ซึ่งภาคเอกชนมองว่า ไม่เอา วันนี้ไม่มีการต่อรอง มีแต่ความถูกต้องเท่านั้น”