"โลตัส" ชี้ทางรอดผู้ประกอบการ SME ไทย หนุนแจ้งเกิดจากพื้นที่เช่า

19 มิ.ย. 2566 | 09:55 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2566 | 10:13 น.

"โลตัส" ชี้ 5 บ่วงความท้าทายบล็อคการเกิด SME ไทย พร้อมชี้ช่อง 5 ทางรอดให้ SME ไทยสามารถแจ้งเกิดได้ในพื้นที่เช่าพร้อมโซลูชั่นในการเติบโตระดับส่งออก

วันนี้ (19 มิถุนายน 2666) นางสาวเบญจวรรณ อ่องศรี ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายศูนย์การค้าและพื้นที่เช่า โลตัส เปิดเผยในงานสัมมนา Post Today Smart SME ยุค AI เขย่าโลก จัดโดยโพสต์ทูเดย์ ว่า คนส่วนใหญ่มักจะมีภาพจำว่า โลตัสเป็น Hypermarket, Supermarket หรือ Mini Supermarket แต่จริง ๆ แล้วโลตัสยังมีพื้นที่เช่ากว่า 1 ล้านตารางเมตร มีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 10% ของพื้นที่เช่าทั่วประเทศ ล่าสุดโลตัสได้สร้างแพลตฟอร์มช่วยสนับสนุน SME ที่อยู่ในพื้นที่เช่ากว่า 30,000 แบรนด์ บนพื้นที่ 50,000-60,000 ยูนิต

ทั้งนี้ จากการทำงานกับคู่ค้าทำให้เห็นความท้าทายหลัก ๆ ของ SME รวม 5 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย

1.ผู้ประกอบการอยากค้าขายในสิ่งที่ชอบ แต่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ตลาดชอบ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือว่าคำว่ามาตรฐานสินค้าและบริการ ต้องมาจากการมองหาจุดที่เป็นช่องว่างระหว่างลูกค้าและตลาด เช่น สำรวจพื้นที่ขายในรัศมี 500 เมตรว่ายังไม่มีสินค้าอะไรวางขาย สิ่งนั้นจะเป็นโอกาส

“การที่เรารู้ market Inside ก่อนแปลว่าเปิดปุ๊บก็ปังปั๊บเพราะค่อนข้างประสบความสำเร็จ แต่ถ้าไม่หาอินไซด์อะไรเลยสิ่งที่เกิดขึ้นคือส่วนใหญ่กลับมาขอลดค่าเช่าเพราะค้าขายไม่ได้”

 

นางสาวเบญจวรรณ อ่องศรี ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายศูนย์การค้าและพื้นที่เช่า โลตัส

 

2. ช่องทางการจัดจำหน่าย คนค้าขายทุกคนมีไฟอยู่แล้ว เมื่อทำธุรกิจนอกจากเปิด 1 สาขาก็อยากจะเปิดหลาย ๆ สาขา และส่งออกไปต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาสิ่งที่โลตัสช่วยผู้ประกอบการรายย่อย เช่น แนะนำให้เจ้าของสวนผลไม้ที่มาเปิดร้านอยู่หน้าสาขาของโลตัส รวบรวมผลไม้ให้ได้ปริมาณระดับส่งออก โดยรวบรวมทั้งในระดับตำบล และอำเภอสิ่งที่เกิดขึ้นคือจากผู้ประกอบการออกบูธเล็ก ๆ เริ่มมีสกิลในการขยายต่อไปเรื่อย ๆ

3. ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะขาดแหล่งเงินทุน โดยโลตัสมีพันธมิตรทางการเงินจำนวนมากที่ทำงานร่วมกับโลตัสมาเป็นระยะเวลายาวนานทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องเงินทุนได้

4. การพัฒนาโมเดลทางธุรกิจ โดยเริ่มจากการตั้งราคาในใจของผู้บริโภคบริเวณนั้น จากนั้นออกแบบสินค้าให้เหมาะสม และน่าซื้อ รวมทั้งจัด Display ของยูนิตหรือร้านให้น่าสนใจเหมาะสมรวมทั้งให้ความสำคัญกับต้นทุนในการผลิต

5.การสร้างแบรนด์และการตลาด โดยนำสินค้าขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเองทั้ง ChatGP ,LINE official ,Facebook, Instagram หรือ Tiktok หรือแม้กระทั่งไปอยู่บนแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็น Grab หรือ LINE Man จะช่วยต่อยอดการตลาดได้

โลตัสชี้ทางรอด SME ไทยแจ้งเกิดจากพื้นที่เช่า

นางสาวเบญจวรรณ กล่าวต่อว่า เมื่อรู้ถึงความท้าทายแล้วสิ่งต่อไปคือการพัฒนาให้ผู้ประกอบการเก่งขึ้น โดยมีข้อแนะนำ 5 ข้อ ดังนี้

1. การวางแผนบริหารและจัดการเงินทุน ผู้ประกอบการจะต้องมีเป้าหมายในการขาย เพราะการกระโดดลงไปขายเลยเป็นสิ่งที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก พื้นฐานของ SME มากกว่า 80% มักจะไม่มีการคิดและวางแผนมาก่อน ซึ่งโลตัสมีการจัดคลาสอบรมให้กับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาในพื้นที่เช่าของโลตัสทั่วประเทศ

2. การออกแบบโมเดลธุรกิจที่จับต้องได้และทำได้จริง หลังพบว่าเป็นการยากมากที่จะขายของชิ้นแรกให้ได้ แต่สำหรับคนที่มีสกิลการขายมาก่อนก็จะขายได้และขายเป็น โลตัสทำงานกับผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับเริ่มต้น ซึ่งมีข้อดีคือเมื่อเขาเก่งขึ้น เขาจะรักเรามากเพราะเราเป็นผู้ช่วยของเขาตั้งแต่เริ่มธุรกิจ เราดำเนินการกิจการพื้นที่เช่ามา 30 ปีสร้างมหาเศรษฐีมากมายที่เกิดจากการนับ 0 ที่จะเติบโตไปในอนาคต

3. การพัฒนาสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐาน หลาย ๆ เจ้าของกิจการพอเริ่มเก่งขึ้น การค้าขายหน้าร้านในพื้นที่เช่าอาจติดปัญหาเรื่องพนักงานขาย เราแนะนำให้ต่อยอดธุรกิจออกมาเป็นรูปแบบโรงงานผลิตให้มี Volume มากขึ้นและนำสินค้าเข้าไปขายในไฮเปอร์มาเก็ตหรือห้างโลตัสทั้งโมเดลขนาดเล็ก กลางและใหญ่

โดยโลตัสจะทำหน้าที่จับคู่ธุรกิจ (Business matching) ให้ผู้ประกอบกับโรงงานที่ดีทั้งส่วนของอาหารและสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง และผู้ประกอบการยังสามารถไปต่อยอดวางขายในค้าปลีกเจ้าอื่นได้หรืออาจจะไปรวมกันไปออกงานหรือรวมกันในการส่งออกไปต่างประเทศ

4. การหาพันธมิตรทางธุรกิจที่ร่วมกันต่อยอด เพราะวธุรกิจสามารถที่จะร่วมกันได้ค่อนข้างเยอะ เช่นสินค้าที่เคยขายได้ดีมากในอดีตบนไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์มาเก็ต แต่การถูกดิจิทัลดิสรับชั่นทำให้ยอดขายบน ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์มาเก็ตลดลง ทางออกมี 2 ทางคือ 1 กระโดดไปออนไลน์และ 2 เปลี่ยนมาใช้ พื้นที่เช่า ทำ road show หรือ Pop Up เพื่อลดค่าเช่าที่ให้สอดคล้องกับยอดขาย

"การหาพันธมิตรต้องมองว่าทุกอย่างขยับได้ตลอดเวลา เพราะโมเดลธุรกิจยุคใหม่อยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือนต้องปรับกันทุกๆ 3 เดือน" 

 

โลตัสชี้ทางรอด SME ไทยแจ้งเกิดจากพื้นที่เช่า

5. การนำเทคโนโลยีกับนวัตกรรมมาปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ซึ่งบางคนอาจมองว่าเป็นการลดต้นทุน แต่จริงๆแล้วเทคโนโลยีสามารถทำให้สินค้านั้นเจ๋งขึ้นได้ เช่นในช่วงโควิด Facebook หรือ Tiktok สินค้ากลุ่ม โฮม แอคเซสเซอร์รี่ส์ ไม่ว่าจะเป็นชั้นวางของพลาสติก ที่เก็บรองเท้าต่างๆมีการใช้เทคโนโลยีมาทำให้สินค้าใช้ง่ายขึ้น และราคาถูก สินค้าเหล่านี้เติบโตเยอะมาก

“โลตัสปัจจุบันเรามี Format ที่เป็น  hypermarket ขนาดใหญ่ประมาณ 200 กว่าโลเคชั่น Supermarket ที่มีที่จอดรถใหญ่ๆและมีพื้นที่ที่เช่าอีกประมาณ 200 โลเคชั่น และ go fresh ประมาณ 2,000 กว่าสาขาการที่ SME ใช้เราเป็นสปริงบอร์ดถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ในการที่ SME สามารถ Connect กับเราได้ทุกๆโลเคชั่น เพียงแต่ต้องปรับตัวว่าสินค้าและบริการที่ต้องการนำไปขายเหมาะสมกับพื้นที่รูปแบบไหน ไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าต้องเป็นไฮเปอร์มาเก็ตหรือพื้นที่เช่าเท่านั้น

สำหรับคนที่ต้องการเริ่มค้าขาย โลตัสมีโซลูชั่นในการช่วยเหลือ โดยจับมือกับทางงภาครัฐและภาคเอกชนทำหลักสูตรพิเศษเกี่ยวกับ SME เป็นโปรแกรม 4 สัปดาห์เรียนฟรีตลอดหลักสูตร ตลอดจนชี้ช่องในการต่อยอดธุรกิจและทำพื้นที่สำหรับให้ SME ได้ออกบูธทั้งศูนย์ประชุม อิมแพคหรือที่อื่นๆให้ได้ทดลองเปิดร้านและสุดท้ายเรามีแพลตฟอร์มของทั้งในส่วนของบริษัท การค้าขายออนไลน์ การรวบรวมสินค้าไปขายต่อต่างประเทศหรือแม้กระทั่งตัวโลตัสเองเพื่อใช้สนับสนุนการเติบโตของ SME

 

โลตัสชี้ทางรอด SME ไทยแจ้งเกิดจากพื้นที่เช่า