สหพัฒน์ หนุน ‘ช้อป ชาแนล’ พลิกโมเดลสู่ Live Commerce

30 มิ.ย. 2566 | 05:20 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2566 | 05:24 น.

สหพัฒน์ไฟเขียว “ช้อป ชาแนล” ปรับโมเดลแพลตฟอร์มทีวี ช้อปปิ้งจากญี่ปุ่น สู่ “ออมนิ แชนนอล” พร้อมเพิ่มช่องทาง “ไลฟ์ คอมเมิร์ซ” ปั้นเม็ดเงินโซเชียลมีเดีย

นายสรโชติ อำพันวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารทีวีช้อปปิ้ง ภายใต้ชื่อ “ช้อป ชาแนล” (Shop Channel) ในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า เดิมธุรกิจของช้อป ชาแนล ใช้โมเดลธุรกิจแบบญี่ปุ่นเน้นการขายบนแพลตฟอร์มทีวี ช้อปปิ้ง แต่ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคใช้เวลาบนหลายแพลตฟอร์มไม่ใช่แค่ทีวี

ดังนั้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทจึงเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็น “ออมนิ แชนแนล” ในช่วงโควิด เริ่มขยายช่องทางการขายมายังไลฟ์ คอมเมิร์ซในโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้ยอดขายเติบโตก้าวกระโดดกว่า 120% ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่ม GEN-X และเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักเริ่มคุ้นเคยกับการซื้อของในเว็บมากขึ้น

ขณะเดียวกันยอมรับว่าช่องทางทีวี ช้อปปิ้ง การเติบโตไม่หวือหวาอย่างในอดีตแต่ยังคงเป็นรายได้หลักของบริษัทกินสัดส่วน 50-60% ขณะที่ช่องทางออนไลน์และไลฟ์คอมเมิร์ซเติบโตจาก 5% ขึ้นมาเป็น 20% ส่วนช่องทางค้าปลีกออฟไลน์การเติบโตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สหพัฒน์ หนุน ‘ช้อป ชาแนล’ พลิกโมเดลสู่ Live Commerce

“ช้อป ชาแนล ในช่วงโควิดยอดขายลดลง แต่เราไม่ได้กระโดดเข้าไปมาร์เก็ต เพลส เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้าเอง แต่มองว่าช่องทางที่เติบโตเร็วอย่างมากคือ “ไลฟ์ คอมเมิร์ซ” ซึ่งคุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา (ประธานเครือสหพัฒน์) มองว่าเป็นตลาดที่ต้องไปให้ทัน ไปให้เร็ว ซึ่งปีที่ผ่านยอมรับว่าเรายังเคลื่อนตัวช้าเพราะโควิด

แต่เรามีการศึกษาตลาดอย่างต่อเนื่องและมองข้ามช็อตว่า การทำไลฟ์ คอมเมิร์ซต้องไม่จำกัดอยู่แค่ในประเทศไทย แต่ต้องไปได้ทั่วโลก ในปีที่ผ่านมาจึงเริ่มศึกษาและเทสต์ตลาดต่างประเทศ ผ่านการจับมือกับ One Belt One Road South East Asian NGOS Alliance เพื่อทำความรู้จักกับเครือข่ายธุรกิจ 16 ประเทศ และพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน”

สำหรับปีนี้บริษัทวางเป้าหมายในการเป็น “Go Global Center” ซึ่งนอกจากสินค้าในเครือสหพัฒน์แล้วยังต้องรองรับสินค้จากพันธมิตรรวมทั้ง SME ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อส่งเสริมสินค้าไทยไปตลาดโลก ซึ่งเป็นการเสริมจุดแข็งให้ช้อป ชาแนล ขยายไปตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้นด้วยพอร์ตสินค้าที่หลากหลาย และนอกจากไลฟ์ คอมเมิร์ซที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว ช้อป ชาแนล ยังวางตัวในการเป็น โพรไวเดอร์ สร้างคน สร้างเครือข่าย อินฟลูเอนเซอร์ทั้งไทยและต่างชาติ

“ข้อดีของเราคือการอยู่ในเครือสหพัฒน์ซึ่งครบวงจรทั้งด้านสินค้าและบริการ ทำให้ทุกคนอยากรู้จัก อยากร่วมมือ ทำให้ง่ายในการพูดคุยและการร่วมมือเร็วขึ้น ดังนั้นในปีนี้ “ช้อป ชาแนล” จะเพิ่มธุรกิจช่องทางใหม่ในส่วนของ “ไลฟ์ คอมเมิร์ซ” อย่างจริงจังหลังจากที่ทดลองไลฟ์ คอมเมิร์ซบางส่วนผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของช้อป ชาแนล และได้รับการตอบรับที่ดี ซึ่งโครงสร้างทีวี ช้อปปิ้งเองมีความคล่องตัวและเอื้อต่อการทำไลฟ์ คอมเมิร์ซมากพอสมควร แต่อาจต้องปรับเพิ่มสกิลคนทำงาน วิธีการออกแบบคอนเทนต์และความเร็วในรูปแบบกองโจร เล็กแต่เร็วและกระจายอย่างครอบคลุม”

สหพัฒน์ หนุน ‘ช้อป ชาแนล’ พลิกโมเดลสู่ Live Commerce

สำหรับความร่วมมือสำคัญที่จะเกิดในปีนี้และเป็นการปูทางสู่เป้าหมาย “Go Global Center” บริษัทจะจับมือกับ 7 องค์กรใหญ่ในการลงนาม 5 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทั้งไทยและต่างประเทศ ประกอบไปด้วย การลงนามบันทุกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU 1 : Shop Global X SABUY TECH X GREEN MOON ความร่วมมือระหว่างช้อป โกลบอล กับสบาย เทคโนโลยี และกรีนมูนส์ โดยร่วมกันพัฒนา KOLs ผ่านโครงการการอบรม KOLs สร้าง E-catalog ในรูปแบบที่ Friendly เข้าถึงและใช้งานง่าย,พัฒนา Affiliate Program ระบบบริหารจัดการ ออร์เดอร์ครบวงจรและออกแบบและพัฒนาระบบสมาชิกของเครือสหกรุ๊ป

MOU 2: Shop Global X eShoplive (No.1 Live Commerce ของประเทศมาเลเซีย) ความร่วมมือระหว่างช้อป โกลบอลกับอินโนเวติก คอมเมิร์ส โซลูชั่น (เซินดิเรียน เบอร์ฮัด) ในการทำธุรกิจแบบ Cross-Border Live Commerce ร่วมกันระหว่างประเทศไทย กับ มาเลเซีย และประเทศอื่นๆ โดยการส่ง KOLs ของประเทศมาเลเซีย มา Live สดจากประเทศไทย แล้วส่งสัญญาณออกอากาศกลับไปยังลูกค้าในประเทศมาเลเซีย ขณะเดียวกัน อินโนเวติก คอมเมิร์ส โซลูชั่น (eShoplive)จะแชร์กลยุทธ์และสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อผลักดันสินค้าในเครือสหกรุ๊ปออกสู่ตลาดมาเลเซีย ผ่านช่องทางการขายแบบ Live Commerce ของ eShoplive

MOU 3: Shop Global X SUKE TV (TV Shopping จากประเทศมาเลเซีย) ความร่วมมือระหว่างช้อป โกลบอลกับดีเอ็นเอฟ กรุ๊ป (ซูเกอร์ ทีวี) ซึ่งมี KOLs ในสังกัดมากกว่า 200 คนในการแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อการขายร่วมกันเพื่อขยายฐานลูกค้าของทั้ง 2 ประเทศให้มีทางเลือกมากยิ่งขึ้น และร่วมมือในการเรียนรู้แลกเปลี่ยนเทคนิคการขาย เพื่อเสริมจุดด้อยสร้างจุดแข็งระหว่างกัน

MOU 4: One Belt One Road South East Asian NGOS Alliance ใน 16 ประเทศ ความร่วมมือระหว่างช้อป โกลบอลกับเครือข่าย OBORSEANA เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก วัน เบลท์ วัน โรด เซาท์อีสต์เอเชี่ยน เอ็นจีโอส์ อาไลแอนส์ ใน 16ประเทศ เพื่อพัฒนาให้ช้อป ชาแนล เป็น Go Global Center สำหรับธุรกิจ SME ทั้งในส่วนของการ พัฒนาสตูดิโอ เพื่อการทำ Live Commerce และจัดหา KOLs จัดหาผลิตภัณฑ์จากเครือสหพัฒน์ และสินค้าภายในประเทศเพื่อเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งบริหารคลังสินค้าและระบบการจัดการร้านค้าและโลจิสติกส์ เพื่อเปิดตลาดไปยังต่างประเทศ

สหพัฒน์ หนุน ‘ช้อป ชาแนล’ พลิกโมเดลสู่ Live Commerce

MOU 5: Shop Global X VEROFAX ความร่วมมือระหว่างช้อป โกลบอลกับเวโรแฟกซ์ เอเซีย เซินดิเรี่ยน เบอร์ฮัด บริษัทด้านเทคโนโลยีจากดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในการทำตลาดเทคโนโลยีในระบบ ซีอาร์เอ็ม ของเวโรแฟกซ์ (VEROFAX) ร่วมกัน เพื่อทำให้ช้อป ชาแนล เข้าไปอยู่ในดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง เต็มตัวแบบ 100% โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกันในการสาธิตสินค้าและบริการร่วมกันในงานสหกรุ๊ปแฟร์

“สิ่งสำคัญของความร่วมมือทั้งหมดนี้คือ ต้องการโนว์ฮาวการทำไลฟ์ คอมเมิร์ซ จากคนที่เคยทำ อีช้อปปิ้ง มาก่อนซึ่งมีความรู้ในการปรับโมเดลทีวี ช้อปปิ้งมาเป็น อี ช้อปปิ้ง ขณะเดียวกันก็ต้องการรักษาให้ทีวี ช้อปปิ้ง ของช้อป ชาแนล เซ็กซี่กว่าเดิม โดยร่วมงานกับ KOLs มาเลเซียพัฒนารูปแบบรายการวาไรตี้ผสมช้อปปิ้ง ซึ่งมาเลเซียจะเป็นเกตเวย์ ในการขยายต่างประเทศไปยังอินโดนีเซีย และอาจขยายไปตลาดจีนได้ในอนาคตเพราะบริษัทส่วนใหญ่ในมาเลเซียและอินโดนีเซียมีคอนเนคชันกับจีนและมีนักลงทุนจีนถือหุ้นจำนวนมาก”

“บริษัทมีแผนขยายความร่วมมือกับบริษัทจากจีน ซึ่งมีอินฟลูเอนเซอร์และ KOLs ในมือกว่า 100 ชีวิตและเป็นหนึ่งใน TOP 5 บริษัทไลฟ์ คอมเมิร์ซในจีน เพื่อขยายตลาดไปยังจีนรวมทั้งเกาหลีใต้ ซึ่งตอนนี้บริษัทเกาหลีเริ่มส่งลิสต์สินค้าที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเกาหลีเพื่อให้ช้อป ชาแนล จัดหาสินค้า ในส่วนของสินค้าเกาหลีเชื่อว่าเมื่อสามารถนำเข้ามาได้จะเป็นที่ต้องการและได้รับการตอบที่ดีจากนักชาวไทยไม่ยาก

รวมทั้งการต่อยอดไปยัง โรงเรียน KOLs เพื่อสร้างบุคลากรในรูปแบบอคาเดมี ในช้อป ชาแนล เพื่ออัพสกิลพิธีกร หรือบุคลากรเดิมของช้อป ชาแนลให้สามารถเป็น KOLs หรือมีสกิลการขายบนไลฟ์ คอมเมิร์ซให้เก่ง ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มศักยภาพของ KOLs ฟรีแลนซ์ที่จะเข้ามาร่วมงานกันในอนาคตให้สามารถผลิตคอนเทนต์ให้ตรงกับความถนัดและแพลตฟอร์มการขายของตัวเอง

โดยปัจจุบันแพลตฟอร์มที่มาแรงสำหรับ ไลฟ์ คอมเมิร์ซคือ TikTok ที่เติบโตแซงหน้า Facebook ที่แม้จะอยู่มานานมีผู้ใช้แพลตฟอร์มจำนวนมากแต่มีการปรับอัลกอลิทึ่มทำให้คนเห็นน้อยลงทำให้ความคึกคักของการซื้อขาย-จับจ่ายลดลง

อย่างไรก็ตามผู้บริโภคที่ยังมีกำลังจ่ายมากที่สุดยังเป็นกลุ่ม GEN X และเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของช้อป ชาแนลที่ตอนนี้เริ่มย้ายฐานการจับจ่ายมาอยู่ที่ “ไลน์ ออฟฟิเชียล” มากขึ้นขณะเดียวกันยังไม่ลดการจับจ่ายผ่านทีวี ช้อปปิ้ง โดยปัจจุบันมูลค่าตลาดของธุรกิจไลฟ์กินสัดส่วนราว 30-40% ของตลาดอีคอมเมิร์ซ เบื้องต้นคาดว่าในปีนี้รายได้จากธุรกิจไลฟ์ คอมเมิร์ซ จะไม่ต่างจากรายได้ของทีวีช้อปปิ้งมากนัก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของทีวี ช้อปปิ้งเป็นลูกค้าที่มีความจงรักภักดี และมีกำลังซื้อสูง”

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,900 วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2566