ผู้นำของครอบครัว จัดการความขัดแย้ง ในธุรกิจครอบครัวอย่างไร (1)

02 ก.ค. 2566 | 07:40 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2566 | 06:19 น.

ผู้นำของครอบครัว จัดการความขัดแย้ง ในธุรกิจครอบครัวอย่างไร (1) คอลัมน์ Designing Your Family Business โดย รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

แม้ธุรกิจครอบครัวสามารถสร้างโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและผลกำไรได้มากมาย แต่ก็มักมาพร้อมกับความท้าทายเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครเช่นกัน โดยหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยที่สุด คือความขัดแย้ง ซึ่งความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวมีสาเหตุมากจากหลายปัญหา อาทิ

• ขาดความชัดเจนในเรื่องของบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบ

• ขาดการวางแผน (การสืบทอดตำแหน่งผู้นำและ/หรือการเปลี่ยนผ่านความเป็นเจ้าของ)

• ค่านิยม เป้าหมาย และวิสัยทัศน์ของครอบครัวที่แตกต่างกัน

• ความแตกต่างของจรรยาบรรณในการทำงาน

• การต่อสู้แย่งชิงอำนาจ

• การปฏิบัติต่อสมาชิกในครอบครัวที่แตกต่างจากพนักงาน

• ขาดโครงสร้างการกำกับดูแลครอบครัว

• ความอิจฉาริษยาและการเล่นพรรคเล่นพวก

• ขาดวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว

• ความโลภ

ทั้งนี้หากไม่มีแนวทางจัดการอย่างเหมาะสม ความขัดแย้งอาจนำไปสู่ความตึงเครียด ความเข้าใจผิด และถึงขั้นความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและธุรกิจพังทลายได้เลยทีเดียว ดังนั้นวิธีที่ครอบครัวจะจัดการกับความขัดแย้งเหล่านี้ สิ่งที่สำคัญคือการรักษาความรู้สึกของ “ครอบครัว” และธุรกิจยังคงสามารถเติบโตและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องต่อไปได้ อย่างไรก็ตามครอบครัวที่ไม่มีแนวทางแก้ไขความขัดแย้งแบบมีโครงสร้างมักจะรู้สึกว่าจำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษาจากภายนอก เข้ามาช่วยเป็นผู้นำดำเนินกระบวนการแก้ไขความขัดแย้ง

ผู้นำของครอบครัว จัดการความขัดแย้ง ในธุรกิจครอบครัวอย่างไร (1)

เนื่องจากแม้ว่ากระบวนการเหล่านี้อาจดูเหมือนไม่ยากเย็นนัก แต่หลายครอบครัวไม่สามารถดำเนินการตามกระบวนการได้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาภายนอก เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับสถานการณ์มากเกินไป ดังนั้นนักกลยุทธ์ธุรกิจครอบครัวจึงมักต้องช่วยธุรกิจครอบครัวจัดการความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัวอยู่เสมอ ด้วยแนวทางที่มีโครงสร้างเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.แนะนำแนวทางที่เป็นกลางอย่างไม่มีอคติ แนะนำที่ปรึกษาจากภายนอกที่มีความเป็นกลางปราศจากอคติ และต้องแจ้งให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันว่าที่ปรึกษาจากภายนอกไม่ได้เป็นตัวแทนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,900 วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2566