การสร้างธุรกิจครอบครัวแม้มีข้อดีมากมาย แต่ก็มากด้วยความท้าทายเช่นกัน คนที่ทำธุรกิจร่วมกับสมาชิกในครอบครัว ย่อมรู้ดีว่าการทำงานเคียงข้างกับคนที่รักนั้นอาจเป็นดาบสองคมได้เสมอ แม้ว่ามักจะได้รับความไว้วางใจและความภักดีต่อกันในระดับสูงจากการทำงานร่วมกับคนที่รู้จักกันดีที่สุด
แต่บางครั้งการพูดถึงเรื่องราวความเป็นมาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อาจทำให้เกิดความขัดแย้งส่วนตัวแล้วลุกลามเข้ามาในที่ทำงานได้ และเมื่อความไม่ลงรอยกันในครอบครัวส่งผลกระทบต่อคุณภาพการบริการของธุรกิจหรือทำให้เป้าหมายระยะยาวล้มเหลว สมาชิกในครอบครัวก็จำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อพิจารณาและแก้ไขข้อขัดแย้งเหล่านั้นก่อนที่จะเลวร้ายลงไปมากกว่านี้
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าความขัดแย้งภายในธุรกิจครอบครัวมักเกิดจาก 2 สาเหตุ โดยสาเหตุประการแรกเกิดจากความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆอย่างต่อเนื่องระหว่างสมาชิกในครอบครัวเกี่ยวกับการตัดสินใจทางธุรกิจและใครมีสิทธิ์ในการตัดสินใจเหล่านั้น ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป
สิ่งนี้อาจทำให้เส้นแบ่งระหว่างเรื่องในครอบครัวและเรื่องธุรกิจไม่มีความชัดเจนหรือก้าวก่ายกัน สาเหตุประการที่สองเกี่ยวข้องกับจุดหักเหสำคัญ (Inflection Point) ของธุรกิจซึ่งมีผลกระทบต่อทั้งครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานในธุรกิจโดยตรงหรือไม่ก็ตาม เช่น การขายธุรกิจ การซื้อธุรกิจอื่น การรับนักลงทุนรายใหม่ หรือการเปลี่ยนผู้นำรุ่นต่อไป เป็นต้น
โดยสถานการณ์ต่างๆเหล่านี้ทำให้จำเป็นต้องตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของธุรกิจ ซึ่งเป็นโอกาสให้ความเครียด ความเป็นปรปักษ์ และข้อสันนิษฐานที่คิดไปเองแพร่กระจายเข้ามาในที่ทำงาน พลวัตส่วนบุคคลอาจกลายเป็นพลวัตในที่ทำงานในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งนี้ความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวที่นับว่าจัดการยากที่สุด
มักเกิดขึ้นเมื่อคนที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจถูกกันออกจากกระบวนการตัดสินใจตั้งแต่แรก จึงทำให้เกิดความสับสนและสร้างความไม่พอใจในระยะยาว อย่างไรก็ตามสมาชิกในครอบครัวสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านั้นได้การทำสิ่งที่เคยคลุมเครือให้มีความชัดเจนมากขึ้น และต่อไปนี้เป็นคำแนะนำวิธีจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในธุรกิจครอบครัวด้วยกระบวนการที่มีความชัดเจนกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
กำหนดว่าใครควรอยู่ในวงการสนทนา หากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจครอบครัวมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนพลวัตของครอบครัว ความมั่งคั่ง หรือสิ่งที่สมาชิกในครอบครัวทำอยู่ สิ่งแรกที่ธุรกิจครอบครัวควรทำคือการดึงคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาไว้ในกลุ่มคนที่ต้องพูดคุยสื่อสารกัน ซึ่งไม่เพียงแค่สมาชิกในครอบครัวที่ทำงานในธุรกิจเท่านั้น แต่รวมถึงทุกคนที่จะได้รับผลกระทบทั้งหมดด้วย
เลือกกลุ่มผู้มีอำนาจตัดสินใจ ต้องให้ทุกคนมีโอกาสที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นไม่ว่าจะเลือกวิธีใดที่คิดว่าได้ผลดีที่สุด ต้องทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ว่าการตัดสินใจจะส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร รวมถึงเกณฑ์การตัดสินใจที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาด้วย วิธีหนึ่งในการทำเช่นนี้คือการแยกวิเคราะห์ปัญหาแต่ละประเด็นที่จะนำไปสู่การตัดสินใจ โดยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบร่วมเสนอความคิดเห็นในประเด็นเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง เป็นต้น
(อ่านต่อฉบับหน้า)
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,890 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2566