นาย พลพัฒน์ อัศวะประภา ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้ง บริษัท อาซาว่า จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันอาซาว่า กรุ๊ป มีแบรนด์ในเครือ 5 แบรนด์ คือ Asava , Asv, Uniform by Asava, White Asava, MOO และ ร้าน SAVA Modern THAI Flavour โดยพบว่า Asava มียอดขายเติบโต 35%, Asv เติบโต 23% และ Uniform by Asava เติบโต 102% ทำให้ภาพรวมการเติบโตช่วงครึ่งปีแรกของแบรนด์ภายใต้เครือ อาซาว่า กรุ๊ปทั้งหมดคิดเป็น 63%
“กลุ่มธุรกิจของเรามีผลประกอบการที่น่าพอใจถ้าแบ่งแยกเป็นกลุ่มๆ จะเห็นว่าธุรกิจระดับ A+ เติบโต 13% คือธุรกิจการแพทย์ ธุรกิจต่อมาคือธุรกิจ A เติบโต 14 - 26% และธุรกิจ A-เติบโต 26-33% ซึ่งเราเชื่อว่าเราอยู่ในกลุ่มนี้ ที่มีผลประกอบการที่เป็นบวก ด้วยสภาพคล่องของธุรกิจ และปัจจัยการบริโภคในกลุ่มลักชัวรี ก็ส่งเสริมให้บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราอยู่ในกลุ่มลักชัวรี ถึงแม้จะเป็นลักชัวรีของไทยก็ได้อานิสงส์จากการเติบโตและการบริโภคในทิศทางที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน”
อย่างไรก็ตามปัจจุบันธุรกิจแฟชั่นมีความท้าทายจากเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไปทั้งเศรษฐกิจ โลกร้อน และกระแส Circular Fashion ซึ่งมองว่า การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม บริบทต่างๆมีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งกระบวนการคิด การออกแบบไปจนถึงการจัดการ และแน่นอนที่สุดหาก อาซาว่า กรุ๊ป จะก้าวไปเป็นบริษัทที่มีมั่นคงและความยั่งยืนมีความจำเป็นที่จะต้องสะท้อนแนวคิดแบบนั้น ไม่ว่าจะแนวคิดในองค์กรหรือนอกองค์กรเอง สิ่งเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
“การปรับกลยุทธ์เป็นสิ่งที่เราทำอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญคือการพัฒนา ไม่มีอะไรที่เหมือนเดิมทุกวัน ตัวเราก็ไม่เหมือนเดิมทุกวัน ผู้บริโภคก็ไม่เหมือนเดิม สังคมก็ไม่เหมือนเดิม เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและทิศทางไหน หน้าที่ของนักออกแบบ นักคิด ต้องคาดเดาจากข้อมูลผสมผสานกับจินตนาการ
หรือวิธีคิดผนวกออกมาเป็นสิ่งที่ตอบรับสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตให้ได้มากที่สุด ยิ่งถ้าเรามีความชัดเจน เกี่ยวกับข้อมูลมากเท่าไร ผนวกกับวิธีคิดที่เข้ากับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป แน่นอนที่สุดก็จะส่งผลให้ผลประกอบการที่เป็นบวก จะบวกอย่างไร เท่าไร ขึ้นอยู่กับศิลปะในการคิดการเข้าใจข้อมูลเข้ากับวิธีคิด”
ทั้งนี้อาซาว่า กรุ๊ป ตั้งเป้ายอดขายเติบโตมากกว่า 50% หรือคิดเป็นมูลค่าหลักร้อยล้านบาทภายในสิ้นปี 2567 โดยเตรียมแผนปรับโฉมสาขาต่างๆ เช่นสาขาชิดลม และสยามพารากอน รวมถึงร้านแฟลกชิพสโตร์ ซ.สุขุมวิท 45 ให้มีดีไซน์ที่แตกต่างกันไปตามความต้องการและไลฟ์ไตล์การใช้ชีวิตของคนในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์และกิจกรรมทางการตลาดไม่ว่าจะเป็นการจัดแฟชั่นโชว์ รวมไปถึงในอนาคตที่กำลังมองหาพาร์ทเนอร์ ตลอดจนกิจการร่วมค้า (Joint venture) และช่องทางการขายออนไลน์ในต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่ใหญ่มากเป็นทุนเดิมที่สำคัญคือการพาแบรนด์ไลฟ์สไตล์ของคนไทยไปสร้างปรากฏการณ์บนเวทีโลก
“เรื่องที่น่าสนใจคือเราไม่เคยตั้งเป้าเป็นที่ 1 ในประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้ และค้าปลีก แต่สิ่งที่เราคิดอยู่เสมอคือเราเป็น 1 ในใจของลูกค้า เราต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเราเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทเข้มแข็งและเติบโตอยู่ตลอดเวลา”
ตลอดระยะเวลา 15 ปีเรามีการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มลายสินค้าต่างๆ outlet platform คู่ค้าและพันธมิตร ในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ทั้งคนไทยและต่างชาติ ท้ายที่สุดผลงานที่เราทำอย่างต่อเนื่องทั้งที่เกี่ยวกับแฟชั่นหรือไม่แฟชั่นก็ดี สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของแบรนด์ที่ทำให้คนวงกว้างเข้าใจถึงผลกระทบเชิงบวกที่เรามีต่อสังคมและเศรษฐกิจ
อาซาว่า กรุ๊ป เคยตั้งเป้าจะต้องเติบโต 25 % ในทุกๆปี แต่ในช่วงโควิดทำให้บริษัทสะดุดไปบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้ อาซาว่า กรุ๊ป ลดเป้าการเติบโตไปกว่าเดิมที่เคยตั้งไว้ และหลังจากโควิดผลงานก็เติบโตเป็นดับเบิ้ลขึ้นในเซ็กเม้นท์ต่างๆ เพราะเราโชคดีที่มีความเข้มแข็งในหลายๆอย่าง ทั้งองค์กร บุคลากรและผลิตภัณฑ์
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,913 วันที่ 13 - 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566