นายสมชาย พรจินดารักษ์ ประธานสมาพันธ์อัญมณีเครื่องประดับ และโลหะมีค่า (ประเทศไทย) (GJPCT) กล่าวว่า สมาพันธ์ฯ ร่วมกับสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ (TGJTA) จัดงาน “เทศกาลซื้ออัญมณีและเครื่องประดับไทย” (Thailand Gems & Jewelry Fair 2024) ขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 25 ก.พ. 2567 งานแสดงสินค้าเพื่อผู้ประกอบการในการเจรจาซื้อขายสินค้าในเชิงธุรกิจ รวมถึงเป็นการตอกย้ำแนวคิดการสร้าง Soft Power “พลอยไทย” ขยายความนิยมสู่ นักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปในระดับนานาชาติ
โดยคาดการณ์ในงานครั้งนี้ จะทําให้เกิดการส่งออกไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท และส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีไทยและเครื่องประดับให้เป็นอุตสาหกรรมที่สําคัญในการสร้างอนาคตของไทยให้เข้มแข็ง ให้คนไทยได้มีอาชีพที่มั่นคงในยุคเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี เนื่องจากอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่เป็นลักษณะของอุตสาหกรรมที่อาศัยเป็นการผสมผสานของศาสตร์และศิลป์ที่ยากต่อการสร้างเป็นอัลกอริทึม จึงทําให้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบ Automation ไม่สามารถมาทดแทนได้ อุตสาหกรรมนี้จึงเป็นส่วนสําคัญมากสําหรับอนาคตของเศรษฐกิจไทย
ด้านนายชมพล พรจินดารักษ์ อุปนายก 1 สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ (TGJTA) และ ประธานบริหารโครงการ Thailand Gems and Jewelry Fair กล่าวว่า เนื่องจากกระแสตอบรับที่ดีจากการจัดงานในหลาย ๆ ปีที่ ผ่านมา เราจึงมีความมุ่งมั่นที่จะต่อยอดความสําเร็จด้วยการเตรียมพร้อมจัดงาน “เทศกาลซื้ออัญมณีและเครื่องประดับไทย Thailand Gems & Jewelry Fair 2024” โดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ทั้งนี้ทางสมาคมฯ และสมาพันธ์ฯ ยังได้นําเสนอกลยุทธ์ที่จะทําให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตไปได้อย่างมั่นคงและช่วยรัฐประหยัดงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน โดยการผลักดันและส่งเสริมภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่มีความชํานาญและรู้จริงในตลาดเป็นหัวหอกในการแข่งขัน โดยภาครัฐทําหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น ด้านแรงงานที่ในอุตสาหกรรมขณะนี้ยังคงขาดแคลนอยู่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายขีดความสามารถการผลิต เป็นต้น
สําหรับงาน “เทศกาลซื้ออัญมณีและเครื่องประดับไทย Thailand Gems & Jewelry Fair 2024” มีกําหนดจัดขึ้น วันที่ 21 – 25 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมได้โดยไม่มีค่าเข้างาน โดยไฮไลต์ของงานผู้เข้าร่วมชมงานจะได้พบกับ 5 โซน ได้แก่ โซนการค้าพลอยสี, โซนการค้าเพชร, เครื่องประดับทอง, เครื่องประดับเงิน และเครื่องมือ อุปกรณ์การผลิต อีกทั้งยังได้พบกับผู้ผลิตโดยตรงจากนานาประเทศ ซึ่งจะทําให้งานนี้ตอบโจทย์และถือเป็นหนึ่งกลไกสําคัญที่ส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยได้อย่างแท้จริง
สำหรับสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ (TGJTA) ก่อตั้งมานานกว่า 50 ปี และมีสมาชิกนิติบุคคลมากที่สุดใน เอเชียถึง 1,600 ราย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของผู้ประกอบการไปจนถึงช่างฝีมือและแรงงานทุกประเภทที่เกี่ยวข้อง มากกว่า 1 ล้านคน
ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับสมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย (GJPCT) ในการจัดงานแสดงสินค้ามาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี และมีผู้เข้าร่วมมากถึง 4000 บูธ ซึ่งอัญมณีและเครื่องประดับนับเป็นอุตสาหกรรมของไทยที่แข็งแกร่ง มีการส่งออกเป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยมีมูลค่าการส่งออกต่อปีถึง 5 แสนล้านบาท ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงถือเป็น “เมืองหลวงแห่งอัญมณี (The Capital of Gemstone)” เป็นแหล่งการค้าวัตถุดิบอัญมณีและเครื่องประดับที่ผู้ค้าจากทั่วโลกนึกถึงเป็นอันดับแรก