สปสช. ออกประกาศเลื่อนบังคับใช้ "มะเร็งรักษาทุกที่" เป็น 1 เม.ย.68

24 ธ.ค. 2567 | 04:15 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2567 | 04:15 น.

สปสช. ออกประกาศเลื่อนบังคับใช้ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายฯ "มะเร็งรักษาทุกที่" ฉบับใหม่ พร้อมทำหนังสือแจ้ง ผอ.รพ.ที่เข้าร่วมโครงการฯแล้ว ย้ำใช้หลักเกณฑ์เดิมไม่ต้องใช้ใบส่งตัว พร้อมเร่งหารือร่วมหน่วยบริการไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ป่วยภายใน 3 เดือน

จากกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ปรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุข กรณีโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) และได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่ายกรณีค่ายาเคมีบำบัดหรือฮอร์โมน ค่ารังสีรักษาโรคมะเร็งและค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อประกอบการสั่งใช้ยารักษาโรคมะเร็ง สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมบริการผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งกรณีที่มีเหตุสมควร สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยกำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไปนั้น 

ล่าสุด ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เพื่อให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถเข้าถึงบริการรักษาโรคมะเร็งซึ่งครอบคลุมถึงการตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็ง

การตรวจหาระยะของโรคมะเร็ง การรักษาภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งโรคร่วมที่พบในระหว่างการรักษา และการตรวจเพื่อติดตามผลการรักษา สปสช. จึงขอแจ้งเลื่อนวันบังคับใช้ประกาศดังกล่าวจากเดิมเป็นวันที่ 1 เมษายน 2568 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ทพ.อรรถพร กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้จนถึง 31 มีนาคม 2568 หน่วยบริการที่ให้บริการตามโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ สามารถขอรับค่าใช้จ่ายได้ตามเดิมในประกาศสำนักงานฯ เรื่องการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีการให้เคมีบำบัดหรือฮอร์โมนหรือรังสีรักษา สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมบริการผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งกรณีที่มีเหตุสมควร พ.ศ. 2566 

"หลังจากที่ สปสช. ได้พิจารณาและเห็นควรให้มีการเลื่อนวันบังคับใช้ประกาศการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ฉบับใหม่ออกไปแล้วนั้น ยังได้ทำหนังสือลงนามโดยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อแจ้งกรณีดังกล่าวไปยังผู้บริหารหรือผู้อำนวยการของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ร่วมให้บริการตามโครงการนี้

ในระหว่างนี้ช่วง 3 เดือน ทาง สปสช. จะมีการหารือร่วมกันกับหน่วยยบริการเพื่อเตรียมการต่างๆ โดยเฉพาะการปรับระบบการเบิกจ่ายไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับการดูแล" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว