นายศรัณญู อยู่คงดี จิวเวลรี่ ดีไซเนอร์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ SARRAN เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แบรนด์ SARRAN เป็นเครื่องประดับสัญชาติไทยแท้ที่ได้รับรางวัลจาก MAD MUSEUM NEW YORK/ TIFFANY AND CO FOUNDATION AWARD ในปี 2018 อีกหนึ่งผลงานที่ได้รับการกล่าวขานถึงมากที่สุดจากคนทั้งโลก คือ การออกแบบเครื่องประดับศีรษะให้กับลิช่า (LISA) สมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ประดับโลกอย่าง BLACKPINK ได้สวมใส่ในซิงเกิ้ลแรกเพลง “LALISA” เป็นความสวยทรงพลังในสไตล์ “Art-To-Wear”
“ความโดดเด่นของชิ้นงานแบรนด์ SARRAN คือ การเล่าเรื่องของผู้หญิงผ่านดอกไม้ ผ่านวัฒนธรรมในแบบเอเชีย เครื่องประดับบางชิ้นเป็นไอคอนิกของแบรนด์ ที่ดารา นักร้องสวมใส่แล้วจะถูกเก็บไว้เป็นความทรงจำทั้งหมดโดยไม่ขาย ทั้งบนเวทีคอนเสิร์ต บนรันเวย์ หรือเคยสวมใส่ในงานต่าง ๆ ด้วยจุดแข็งคือ การเป็นงานศิลปะที่สามารถเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม มีเรื่องราวทำให้ลูกค้ามีความสุข และการขายจะง่ายขึ้น เติบโตด้านความสุขแบบก้าวกระโดด”
สำหรับการทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ 100% เท่ากัน ด้วยการบอกต่อและสวมใส่ในที่สาธารณะซึ่งเป็นพลังได้มากกว่าการใช้มีเดียโฆษณา แต่ในทางกลับกันมีเดียก็มีผลกระจายภาพและข้อความจากลูกค้าไปสู่กลุ่มคนที่กว้างขึ้นอย่างมั่นคง
ปัจจุบัน SARRAN มีสตูดิโอหลักที่ ริเวอร์ ชิตี้ แบงค็อก เป็น Life Studio & Flagship Store เป็นหมุดหมายใหม่ของผู้ที่ชื่นชอบงานเครื่องประดับผสมผสานความเป็นศิลปะแห่งเอเชีย ซึ่งคงความเป็นดีไซน์เฉพาะตัวในแบบที่ให้คำจำกัดความได้อย่างถึงแก่นด้วยคำว่า “Art-To-Wear” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “New Sunrise” ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและมีร้านมัลติแบรนด์ (Multi-Brand Store)ที่ทำงานร่วมกันกับ Club 21 Thailand อยู่สยามดิสคัฟเวอรี่, เอ็มสเฟียร์, เกษรวิลเลจ และอีก 2 สาขาในอนาคต
โดยแบรนด์ SARRAN เริ่มต้นมาจากการออกแบบทุกอย่างที่เป็นงานศิลปะ ก่อนจะเริ่มทำเป็นจิวเวลรี่เมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา และกลายเป็นเครื่องประดับอาร์ตกึ่งแฟชั่น โดยนำประสบการณ์และเรื่องราวในอดีตมาสร้างสรรค์ผลงานเป็นคอลเล็คชั่นต่าง ๆ ที่มองย้อนกลับไปในอดีตและมองไปถึงอนาคตได้หลายร้อยปี บางชิ้นราคาจับต้องได้ บางชิ้นขึ้นอยู่กับเรื่องราวที่ต้องการสื่อสารออกไป และบางชิ้นจะมีเพียงแค่ชิ้นเดียวไม่มีซ้ำกับใคร ลูกค้าจะรู้สึกถึงความพิเศษ
ด้าน นายภูเก็ต คุณประภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจมส์บุรี จำกัด กล่าวว่า ตลาดเครื่องประดับมีความคึกคัก โดยเฉพาะพลอยที่พบว่าการหาวัตถุดิบ การเผา การเจียระไน ล้วนเป็นที่ยอมรับอย่างมากในตลาด เนื่องจากมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ถึงแม้ว่าพลอยหรือพลอยก้อนในจันทบุรีจะมีน้อยลง และปัจจุบันต้องนำเข้าพลอยจากต่างประเทศกว่า 90%
อย่างวัตถุดิบจากเมียนมาก็เป็นที่นิยมค่อนข้างสูงตลาดโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ก็มีแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติมคือ แอฟริกา มีเหมืองพลอยอยู่ที่ประเทศโมซัมบิก บริษัทที่รับสัมปทานพลอยก้อนจะนำมาประมูลในประเทศไทย ส่วนไพลินยังมีแหล่งผลิตหลักเดิมที่กาญจนบุรี บ้างก็มาจากศรีลังกา หรือแอฟริกา และสินค้าพลอยสำเร็จรูปที่เป็นทับทิม ซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลกกว่า 80% มักถูกนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มที่ประเทศไทย ซื้อขายกัน 2 กลุ่มด้วยกัน คือ ผู้ประกอบการ เช่น โรงงานผลิตเครื่องประดับทั้งในประเทศเองและต่างประเทศจาก อินเดีย ฮ่องกง จีน รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในยุโรป ส่วนกลุ่มที่สองเป็นเทรดเดอร์พ่อค้าพลอยต่างประเทศ เข้ามาซื้อพลอยในประเทศไทยเพื่อนำไปขายต่อ