"วันดื่มนมโลก" (World Milk Day) ตรงกับวันที่ 1 มิ.ย. ของทุกปี โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization หรือ FAO) เป็นผู้กำหนด
ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ค. ปี 2566 ระบุว่า อัตราการดื่มนมของประชากรไทยยังคงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 6 เท่า
นางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ระบุว่า จากข้อมูลดังกล่าวบริษัทจึงุม่งเน้นการขับเคลื่อนให้คนไทยเห็นคุณค่าของการดื่มนมตามเป้าหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สนับสนุนให้คนไทยดื่มนมเพิ่มขึ้นมากกว่า 25 ลิตรต่อคนต่อปี ภายใน ปี 2570
โดยเฉพาะนมโคแท้ 100% เพราะนอกจากผู้บริโภคจะได้รับสารอาหารและโภชนาการที่ดีจากนมแล้ว การบริโภคนมที่มากขึ้นยังสร้างอาชีพที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศ
นางสาวสลิลรัตน์ กล่าวอีกว่า การบริโภคนมทั้งในประเทศไทย และทั่วภูมิภาคกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยตลาดนมสดพาสเจอร์ไรส์ และเครื่องดื่มนม ในประเทศไทยถือว่าเป็นตลาดที่มีสีสัน สังเกตได้จากผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายมีความหลากหลาย ซึ่งบริษัทพยายามนำเสนอด้วยการนำนวัตกรรมการคิดค้นผลิตภัณฑ์นมรูปแบบใหม่ ทั้งเรื่องของการเพิ่มคุณค่าสารอาหาร รสชาติ และคุณสมบัติจำเพาะ เพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการที่เฉพาะเจาะจง และซับซ้อนมากขึ้นของผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มุ่งดูแลและรับผิดชอบผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่เกษตรกรต้นน้ำ โดยได้จัดตั้งทีมงานบริหารจัดการน้ำนมดิบ เพื่อทำงานร่วมกับศูนย์รับน้ำนมดิบ กลุ่มเกษตรกร และประสานกับภาครัฐ เช่น กรมปศุสัตว์ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการดูแลโคนมและการจัดการฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร เพื่อเป้าหมายความยั่งยืนระยะยาวในการให้วัวแต่ละตัวสามารถผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพ
และมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของตลาด เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรุ่นใหม่เพื่อสานต่อการทำฟาร์มโคนมให้เติบโต สร้างอาชีพที่มั่นคง โดยปัจจุบัน ซีพี-เมจิ รับซื้อน้ำนมดิบในปริมาณ 580-600 ตันต่อวัน จากเครือข่ายเกษตรกรฟาร์มโคนม 6,000 แห่งทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดสระบุรี ทั้งมิติทางสังคม ผ่านโครงการด้านการศึกษา จนถึงโภชนาการ ในโรงเรียนและชุมชนรอบข้าง ส่วนมิติด้านสิ่งแวดล้อม มีการตั้งเป้าหมายในการลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ตามเป้าหมายของประเทศไทยในปี 2023 คู่ขนานไปกับการดูแลรักษาผืนป่าต้นน้ำ ด้วยการปูพรมสร้างพื้นที่สีเขียว ปลูกป่าให้ได้ 200,000 ต้น ในจังหวัดสระบุรีและจังหวัดใกล้เคียง